Tag Archives: Trend Following

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (เม.ย. 60)

model-portfolio-apr-2017

Model Portfolio เดือน เม.ย. 60

เดือนนี้ถือเป็นเดือนที่พอยิ้มได้ เพราะผลตอบแทนพอร์ตออกมาค่อนข้างดี แล้วก็ยังชนะ Benchmark ของพอร์ตค่อนข้างเยอะด้วย แต่ก่อนที่จะไปดูพอร์ตกัน เรามาอัพเดทพัฒนาการของเจ้าของพอร์ตตัวจริงกันเสียหน่อย

เดือนนี้มาในรูปแบบของวิดีโอให้ได้เห็นความน่ารักสดใส และแก้มอันน่าฟัดได้แบบเคลื่อนไหว ตอนนี้เธอ 6 เดือนเศษแล้ว

ปล. ท่านที่เพิ่งเข้ามาอ่านเดือนนี้เป็นเดือนแรก ถ้างงๆ ว่าอยู่ดีๆ ก็พูดถึงพอร์ตลูกสาว เรื่องมันเป็นยังไงมายังไง ขอให้กลับไปตั้งหลักที่ โพสนี้ ก่อนนะครับ


สถานะพอร์ต ณ 28 เม.ย. 60

ลำดับแรกดาวโหลดไฟล์ Excel ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน คลิ๊กที่นี่ ครับ

01-outstanding

มูลค่าพอร์ต ณ 28 เม.ย. 60 อยู่ที่ 240,363.04 บาท โดยมูลค่านี้รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน เม.ย. 60 อีก 5,000 บาท ด้วยแล้ว

สัดส่วนการลงทุนปัจจุบันก็แบ่งเป็น

  • เงินสด 2.1% / 0.0%
  • ตราสารหนี้ไทย 14.7% / 7.5%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 0.0% / 7.5%
  • อสังหาริมทรัพย์ 19.7% / 25.0%
  • หุ้นไทย 24.8% / 30.0%
  • หุ้นต่างประเทศ 28.7% / 20.0%
  • สินทรัพย์ทางเลือก 10.0% / 10.0%

ตัวเลขด้านหน้าคือน้ำหนักที่ลงทุนจริง ตัวเลขด้านหลังเครื่องหมาย “/” คือสัดส่วนตาม Strategic Asset Allocation (SAA) หรือแผนระยะยาว

ซึ่งสัดส่วนการลงทุน ณ ปัจจุบัน แทบจะก๊อปปี้คำบรรยายของเดือนที่แล้วมาใช้ได้เลย นั่นคือมีการ Underweight หุ้นไทย ตราสารหนี้ต่างประเทศ และอสังหาริมทรัพย์อยู่ น้ำหนักการลงทุนจึงไปบวมที่ตราสารหนี้ไทย เพราะพักเงินไว้ที่นี่ อีกจุดที่บวมก็คือหุ้นต่างประเทศ เพราะมุมมองส่วนตัวผมยังคิดว่าช่วงนี้โอกาสอยู่ในหุ้นต่างประเทศอยู่ (โซนที่ชอบถ้าดูจากพอร์ตก็คือเอเชีย สหรัฐฯ และ Global Infrastructure Equity)


ผลกำไร/ขาดทุน

02-performance

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นครับ ว่าเดือนนี้พอร์ตมีกำไรค่อนข้างดี คือกำไรมา 1,339.16 บาท หรือ +0.57% หลังจากที่ขาดทุนมาจากเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้า

ถ้านับตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุนนี้เมื่อสิ้นเดือน ส.ค. 59 ก็มีกำไรมาเล็กน้อย คือ 363.04 บาท หรือ +0.11% ดูๆ ไปก็เหมือนแค่ได้เก็บเงินต้น เพราะกำไรแค่นี้ในระยะเวลา 8 เดือน ถือว่าแพ้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ด้วยซ้ำ

แต่เราจะตัดสินแบบนี้ไม่ได้เด็ดขาดนะครับ เพราะระดับของความเสี่ยงและศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนมันต่างกัน ดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ยังไงๆ มันก็ได้แค่นั้น แต่พอร์ตลักษณะนี้ เมื่อระยะเวลาผ่านไป สินทรัพย์ต่างๆ เริ่มทำงานตามธรรมชาติของมัน โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นมันมีมากกว่า

อีกอย่าง 8 เดือนยังเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาการลงทุนที่จะลงทุนจนลูกผมโต ถ้าใครได้อ่าน SAA ของพอร์ต จะพบว่าพอร์ตนี้หวังผลตอบแทนเฉลี่ยที่ประมาณ 8% ต่อปีทีเดียว อยากให้ติดตามไปด้วยกันครับ ว่ามันจะไปถึงได้จริงมั๊ย ถ้าได้ ได้อย่างไร และถ้าไม่ได้ มันผิดพลาดตรงไหน และผมแก้ไขอย่างไร


ผลการดำเนินงานที่ทำได้นั้นดี/เลวแค่ไหน (Benchmarking)

ในที่นี่ก็ต้องเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ที่เหมาะสมสักชุด ซึ่งกำหนดไว้แล้วใน Investment Policy Statement (IPS) คือ

  • ThaiBMA 1-3Y Gov. Bond Index – 15%
  • M-PROPERTY – 25%
  • SET TRI – 30%
  • S&P500 TRI – 20%
  • LBMA Gold AM – 10%

โดย Weight ที่ให้กับ Index แต่ละตัว ก็สะท้อนมาจากแผน SAA เพราะเราอยากจะรู้ว่าหากวัดเทียบกับพอร์ต SAA ที่ไม่ปรับสัดส่วน Overweight/Underweight อะไรเลยระหว่างทาง เราทำได้ดีแค่ไหน

03-benchmark

โดยผลลัพธ์ของเดือนนี้นั้นออกมาดีมากๆ ครับ เพราะพอร์ต +0.57% แต่ Benchmark ของพอร์ต ขาดทุนไป -0.24% หากนำมาหักลบกัน จะพบว่าเดือนนี้พอร์ตเราชนะ Benchmark ไปถึง 0.81% 

อย่างไรก็ตามหากวัดตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 ก็จะเห็นว่าพอร์ตยังทำผลงานได้แพ้ Benchmark อยู่ เพราะได้กำไรมาเพียง +0.10% ขณะที่ Benchmark ได้ +1.44% (อ่านค่าในตารางบรรทัดสุดท้าย)

ก็หวังว่าในเดือนต่อๆ พอร์ตจะทำงานได้ดีขึ้น จนสามารถชนะ Benchmark แบบ Since Inception ได้ เพราะถ้าทำไปยาวๆ แล้วไม่ชนะ ก็ถือว่าความพยายามที่จะ Make Active Decisions มันสูญเปล่า ได้แค่สนุก แต่ไม่ออกดอกออกผลอะไร สู้ลงทุนเลียนแบบ Benchmark ไปเลยเสียก็จบ


วิเคราะห์องค์ประกอบผลตอบแทน (Performance Attribution)

05-attribution-old

ตารางข้างต้น เป็นตารางแบบที่ผมใช้อธิบายองค์ประกอบของผลตอบแทนของพอร์ต มาตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา แต่ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป ผมขอนำเสนอในรูปแบบของกราฟแท่ง น่าจะเข้าใจง่ายกว่า ใครที่อ่านตารางเป็นเพราะติดตามมาหลายเดือนแล้ว จะอ่านจากตารางข้างบนก็ได้นะครับ หรือจะดูกราฟนี้ก็ได้

04-attribution-graph

ในการวิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนนั้น เราจะวิเคราะห์กัน 2 ระดับ คือระดับสัดส่วนสินทรัพย์ (Tactical Allocation) และระดับการเลือกกองทุน (Selection) โดยอ่านค่าได้จากหัวตารางในกราฟด้านบน

1)  ระดับของสัดส่วนสินทรัพย์ (Tactical Allocation)

จะเห็นว่าผมมี Overweight หุ้นต่างประเทศ และตราสารหนี้ไทยไว้ ขณะที่ Underweight อสังหาริมทรัพย์ และ หุ้นไทย โดยคงน้ำหนักปานกลาง (Neutral Weight) สินทรัพย์ทางเลือก (ซึ่งในที่นี้คือทองคำ)

ก็ต้องมาดูครับว่าเรา Overweight สินทรัพย์ที่ขึ้นเยอะ และ Underweight สินทรัพย์ที่ขึ้นน้อย (หรือสินทรัพย์ที่ขาดทุน) ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ถือว่าตัดสินใจถูกต้อง โดยการจะดูว่าสินทรัพย์ไหนขึ้นเยอะ ขึ้นน้อย อย่าเพิ่งไปดูที่ชื่อกอง (ซึ่งเป็นกราฟแท่งสีฟ้า) นะครับ เพราะนั่นเราจะไปวัดในส่วนของ Selection แต่ให้ดูที่ Asset Benchmark (ซึ่งเป็นกราฟแท่งสีเทา) ก่อน เพราะเป็นดัชนีที่ผมเลือกมาเป็นตัวแทนการลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ โดย

  • Thai Bond มี Asset Benchmark คือดัชนี ThaiBMA 1-3Y Gov. Bond Index
  • Property มี Asset Benchmark คือกอง M-PROPERTY ของ บลจ. MFC (ไม่ใช้ดัชนี SET PF&REITS เนื่องจากดัชนีดังกล่าว ไม่มีการเผยแพร่ดัชนีผลตอบแทนรวม ซึ่งรวมเงินปันผลเข้าไปด้วย มีแต่เพียงดัชนีที่เป็น Price Index ที่ไม่รวมเงินปันผล ซึ่งไม่ควรนำมาใช้ เพราะการลงทุนใน Property จริงๆ นั้น มันได้ปันผลด้วย)
  • Thai Stock มี Asset Benchmark คือ ดัชนี SET TRI
  • Foreign Stock มี Asset Benchmark คือ ดัชนี S&P500 TRI
  • Alternative มี Asset Benchmark คือราคาทองคำ LBMA Gold AM

จากรูปข้างบน เรียงจากสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนแย่สุดจะพบว่า

  • เดือนนี้ Property ให้ผลตอบแทนแย่สุด คือขาดทุน -2.81% ซึ่งผม Underweight สินทรัพย์นี้พอดี ก็ถือว่าทำได้ถูกต้อง
  • แย่รองลงมาคือ Thai Stock แต่ก็ไม่ได้แย่มาก เพราะก็ยังมีกำไรอยู่ เพียงแต่กำไรน้อยกว่าสินทรัพย์อื่น คือกำไร +0.14% ซึ่งผม Underweight สินทรัพย์นี้ ก็ถือว่าทำได้ถูกต้องเช่นกัน
  • ถัดมาเป็น Thai Bond +0.18% ซึ่งผม Overweight ทรัพย์นี้อยู่นิดหน่อย (16.8% vs 15.0%) จริงๆ ก็ถือว่าไม่ดีนัก เพราะยังมีทรัพย์อื่นที่ได้มากกว่านี้
  • ดีลำดับถัดมาเป็น Foreign Stock +0.99% ซึ่งผม Overweight ทรัพย์นี้ก็ถือว่าถูกต้อง เพราะลงทุนเยอะ ในของที่ขึ้นเยอะ
  • ดีที่สุดของเดือนนี้คือ Alternative ซึ่ง +1.92% โดยผมลงน้ำหนักปกติ (Neutral Weight) ไว้ ก็ถือว่าไม่มีสิทธิ์ให้คะแนนตัวเอง เพราะไม่ได้ปรับน้ำหนักแตกต่างไปจากแผนระยะยาว

โดยรวมเดือนนี้ผมให้คะแนน Tactical Allocation ตัวเอง 7-8 คะแนน เต็ม 10 ครับ

2) ระดับของ Fund Selection

คือการเลือกกองทุนที่มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนสินทรัพย์นั้น และในกรณี Foreign Stock นั้น ยังรวมถึงการเลือก Region หรือ Sub-Asset Class ด้วย เพราะใช้ Benchmark เป็นหุ้นสหรัฐ (S&P500 TRI) แต่ผมเลือกกองแบบอิสระตามภูมิภาคที่ชอบ

เดือนนี้ได้ผลลัพธ์ดังนี้ครับ

  • K-FIXED แพ้ Asset Benchmark ไปนิดหน่อย (+0.16% vs +0.18%)
  • T-PropInfraFlex แม้เดือนนี้จะขาดทุน แต่ก็ชนะ Asset Benchmark พอสมควรเลย (-1.95% vs -2.81%) ถือว่าเลือกกองได้ดี
  • BTP และ UTSME ยังมีปัญหาเหมือนเดือนก่อนๆ คือแพ้ Asset Benchmark และเป็นการแพ้แบบพิศดาร คือแพ้แบบกลับทาง เพราะ BTP -1.35% UTSME -1.43% ขณะที่ SET TRI +0.14% ถือว่าเลือกกองได้ไม่ดี
  • กองต่างประเทศทุกกองที่ลงทั้ง TMBAGLF (เอเชีย : หลักๆ คือจีน + อินเดีย) ABAGS (หุ้นเล็กสหรัฐฯ) SCBUSSM (หุ้นเล็กสหรัฐฯ) CIMB-PRINCIPAL GIF (หุ้นโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก) ให้ผลตอบแทน 3.11 – 4.55% ขณะที่ Asset Benchmark ได้แค่ 0.99% ก็ถือว่าเลือกมาได้ดีมากทุกกอง
  • TMBGOLDS ก็ได้เกาะๆ ไปกับ Asset Benchmark เพราะเป็น Index Fund อยู่แล้ว ไม่วิจารณ์อะไรมากครับ

โดยรวมเดือนนี้ผมให้คะแนน Selection ตัวเอง 7-8 คะแนน เต็ม 10 ครับ

ทั้งนี้ถ้ารวมผลการตัดสินใจจากทั้ง Tactical Allocation + Selection แล้ว ในเดือนนี้พอร์ตผมกำไร +0.63% เทียบกับ Portfolio Benchmark ที่ขาดทุน -0.24% ก็ถือว่าทำได้ดีมากครับ สาเหตุหลักที่ทำให้ชนะได้มากขนาดนี้ ก็จะพบว่ามาจาก 2 เหตุผลคือ

  1. พอร์ตมีการ Underweight Property ซึ่งขาดทุนเยอะในเดือนนี้
    และนอกจากจะ Underweight แล้ว กอง T-PropInfraFlex ที่เลือกก็ยังขาดทุนน้อยกว่า Benchmark อีก ทำให้ได้ดี 2 ต่อ (ขาดทุนน้อยลง 2 ต่อ)
  2. พอร์ตมีการ Overweight Foreign Stock ซึ่งได้ผลตอบแทนค่อนข้างดีในเดือนนี้ และกองทุนทุกกองที่นำมาลงทุนแทน Foreign Stock ก็ให้ผลตอบแทนดีมากๆ ทำให้ได้ดี 2 ต่อ (กำไรมากขึ้น 2 ต่อ) อีกเช่นกัน

นอกจากนั้น 2 เหตุผลข้างต้น ยังมาชดเชยข้อผิดพลาดจากการเลือกกองทุนหุ้นไทย (BTP & UTSME) ได้ไม่ดีลงได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนว่า ผลการวิเคราะห์ข้างต้นนั้น เป็นของเดือนนี้เท่านั้น ควรกลับไปอ่านของเดือนก่อนๆ ดูด้วย จะเห็นพัฒนาการ

ในความเป็นจริง ผมไม่ได้ให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์รายเดือน แล้วปรับพอร์ตตามมันขนาดนั้น แต่ก็ติดตามแนวโน้มไปเรื่อยๆ ถ้าเห็นอะไรที่ห่วยชัดเจนต่อเนื่อง ก็ค่อยตัดสินใจปรับ อย่าลืมว่าทุกกองที่ลงไป ก่อนลงเราก็คัดสรรมาอย่างดีแล้ว และให้น้ำหนักกับระยะยาว ดังนั้นการที่มันพลาดไม่กี่เดือน คงไม่ใช่เหตุผลที่จะเอาออก


แล้วจะปรับพอร์ตยังไง

ผมค่อนข้างพอใจในสถานะปัจจุบันของพอร์ตแล้ว ส่วนกองหุ้นไทยที่มีปัญหานั้น ผมก็ยังอยากให้โอกาสเค้าอยู่ เพราะทั้งสองกองก็เป็น Active Fund ที่มีความ Active สูง เคยทำผลงานในอดีตได้ดีมาก ซึ่งก็เป็นไปได้ที่ในช่วงสั้นๆ อาจจะไม่ Perform แต่ถ้าถือได้นานพอก็ไม่น่าจะแย่จนถึงขั้นรับไม่ได้ อีกอย่างตอนนี้ผมก็ยัง Underweight หุ้นไทยอยู่ ผลกระทบส่วนนี้มันก็จะถูกลดทอนลงไปด้วย

แต่เนื่องจากเดือนนี้มีเงินใหม่รอลงทุนอีก 5,000 บาท ซึ่งต้องตัดสินใจลงทุน ผมตัดสินใจลงเงินทั้ง 5,000 บาทในกอง TMBAGLF เพราะคิดว่าราคาหุ้นฝั่งประเทศกำลังพัฒนาก็ขึ้นไปมากแล้ว หากดูแนวโน้มราคา ตามแนวคิด Trend Following ก็ยังถือ Let Profit Run ไปได้เรื่อยๆ แต่คงไม่ซื้อเพิ่ม ส่วนหุ้นเอเชีย (หลักๆ คือจีนและอินเดีย) นั้นแม้ขึ้นมาพอสมควร แต่เทียบความถูกแพง (Relative Valuation) ก็ยังถือว่าถูกกว่าฝั่ง US อยู่ ก็ซื้อกองนี้ ตาม Transaction ด้านล่าง

06-transaction

ไว้เดือนหน้าเรามาติดตามกันต่อนะครับ

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (มี.ค. 60)

model-portfolio-mar-2017

Model Portfolio เดือน มี.ค. 60

ปี 2560 ผ่านไป 1 ไตรมาสอย่างรวดเร็ว และนี่ก็เป็นเดือนที่ 7 ของการลงทุนใน Model Port ของลูกสาวผม จากวันนี้ยังเหลือระยะเวลาการลงทุนอีก 17 ปี 9 เดือน เสมือนเราเดินทางมาแล้ว 3 ใน 100 ก้าว ของเส้นทาง

เอเจก็มีพัฒนาการไปตามลำดับ ตอนนี้อายุ 5 เดือนครึ่งแล้ว เริ่มทำอะไรใหม่ เช่นดึง ฉีกของต่างๆ ที่ส่งให้ นอนยาวขึ้น น้ำหนักเริ่มทรงๆ (แต่แก้มก็ยังบานต่อไป) แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เธอเป็นเด็กอารมณ์ดี ตื่นนอนด้วยรอยยิ้มทุกวัน ^_^

สำหรับผมเองถือเป็น 5 เดือนครึ่งที่หนักมาก เพราะเดิมเป็นคนบ้างาน พอต้องช่วยภรรยาเลี้ยงลูก กลางวันก็แทบไม่ได้ทำงาน ต้องอาศัยทำตอนเช้ามืดหรือดึกมากหลังลูกหลับเท่านั้น ถึงขั้นว่าไม่ได้เข้าไปดู Inbox ในเพจ A-Academy ครึ่งเดือนก็เคยมาแล้ว เรียกว่าต้องปรับอะไรเยอะทีเดียว แต่ก็สู้เต็มที่ครับ พยายามทำสิ่งที่สำคัญให้สำเร็จ ซึ่งผมลำดับดังนี้

  1. ดูแลครอบครัว ลูกเมียให้ดี
  2. ดูแลสุขภาพไม่ให้เดี้ยงไปเสียก่อน (ผมปวดคอ ไหล่ หลัง ค่อนข้างมากเรื้อรังมานาน) อยู่ระหว่างการรักษา ผ่านมาหลายวิธีการ ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นแล้วครับ
  3. วางรากฐานโปรเจ็คสร้างนักแผนการเงิน Avenger Planner ให้สำเร็จ (ทำมาครึ่งปีแล้ว มีโอกาสคงได้เล่าให้ฟังครับ)
  4. ดูแลเพจและกิจกรรมของ A-Academy ทั้งหมด ทั้งการตอบคำถามหลังไมค์ และการจัดสัมมนา FF และ DIY Portfolio ของตัวเอง และที่ร่วมกับมูลนิธิคนไทยฉลาดการเงิน

เกินกว่านี้ก็เริ่มจะทำไม่ไหวแล้วครับ

อ่านแล้วดูเครียดๆ เนาะ ขอตัดเป็นภาพสาวน้อยเจ้าของพอร์ตให้รีแลกซ์ขึ้นหน่อยแล้วกันนะครับ

img20170327164603 img20170331100906

ปล. ท่านที่เพิ่งเข้ามาอ่านเดือนนี้เป็นเดือนแรก ถ้างงๆ ว่าอยู่ดีๆ ก็พูดถึงพอร์ตลูกสาว เรื่องมันเป็นยังไงมายังไง ขอให้กลับไปตั้งหลักที่ โพสนี้ ก่อนนะครับ


สถานะพอร์ต ณ 31 มี.ค. 60

ลำดับแรกดาวโหลดไฟล์ Excel ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน คลิ๊กที่นี่ ครับ

01-outstanding

มูลค่าพอร์ต ณ 31 มี.ค. 60 อยู่ที่ 234,023.88 บาท โดยมูลค่านี้รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน มี.ค. 60 อีก 5,000 บาท และในระหว่างเดือนได้รับเงินปันผลจากกอง T-PropInfraFlex อีก 414.04 บาท รวมแล้วทำให้มีเงินใหม่รอลงทุนเดือนนี้ 5,414.04 บาท

สัดส่วนการลงทุนปัจจุบันก็แบ่งเป็น

  • เงินสด 2.3% / 0.0%
  • ตราสารหนี้ไทย 15.1% / 7.5%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 0.0% / 7.5%
  • อสังหาริมทรัพย์ 20.6% / 25.0%
  • หุ้นไทย 23.5% / 30.0%
  • หุ้นต่างประเทศ 28.4% / 20.0%
  • สินทรัพย์ทางเลือก 10.1% / 10.0%

ตัวเลขด้านหน้าคือน้ำหนักที่ลงทุนจริง ตัวเลขด้านหลังเครื่องหมาย “/” คือสัดส่วนตาม Strategic Asset Allocation (SAA) หรือแผนระยะยาว ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบัน Underweight หุ้นไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศอยู่ น้ำหนักการลงทุนจึงไปบวมที่ตราสารหนี้ไทย เพราะพักเงินไว้ที่นี่ อีกจุดที่บวมก็คือหุ้นต่างประเทศ เพราะมุมมองส่วนตัวผมยังคิดว่าช่วงนี้โอกาสอยู่ในหุ้นต่างประเทศอยู่ (โซนที่ชอบถ้าดูจากพอร์ตก็คือเอเชีย สหรัฐฯ และ Global Infrastructure Equity)


ผลกำไร/ขาดทุน

02-profit

เดือนนี้พอร์ตก็ ขาดทุนต่ออีก -0.36% หรือเป็นเงิน 831.91 บาท ส่วนผลตอบแทนสะสม นับตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 พอร์ตก็ยังขาดทุนอยู่ -0.47% หรือ 976.12 บาท (อ่านค่าตรงบรรทัดสุดท้ายของตาราง) ดูผลตอบแทนแล้วก็เหงาหงอย เศร้าสร้อยนะครับ เพราะเสมือนว่า  ลงทุนมา 7 เดือนได้เก็บแต่เงินต้น

เอาน่า… ก็ยังดีจากพอร์ต 2 แสน ก็กลายมาเป็น 2.34 แสนแล้ว ค่อยๆ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เส้นทางอีกยาวไกล และนี่เป็นพอร์ตเสี่ยงปานกลาง ไม่ใช่พอร์ตปรู้ดปร้าดเหมือนพอร์ตหุ้นล้วนเสียหน่อย


ผลการดำเนินงานที่ทำได้นั้นดี/เลวแค่ไหน (Benchmarking)

ในที่นี่ก็ต้องเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ที่เหมาะสมสักชุด ซึ่งกำหนดไว้แล้วใน Investment Policy Statement (IPS) คือ

  • ThaiBMA 1-3Y Gov. Bond Index – 15%
  • M-PROPERTY – 25%
  • SET TRI – 30%
  • S&P500 TRI – 20%
  • LBMA Gold AM – 10%

โดย Weight ที่ให้กับ Index แต่ละตัว ก็สะท้อนมาจากแผน SAA เพราะเราอยากจะรู้ว่าหากวัดเทียบกับพอร์ต SAA ที่ไม่ปรับสัดส่วน Overweight/Underweight อะไรเลยระหว่างทาง เราทำได้ดีแค่ไหน

03-benchmark

ซึ่งผลลัพธ์ของเดือนนี้ นอกจากจะขาดทุนในตัวเองแล้ว ก็ยังแพ้ Benchmark อีก เพราะ Benchmark กำไร +0.10% แต่พอร์ตขาดทุน -0.36% เน็ทแล้วแพ้ Benchmark อยู่ -0.46%

ทั้งนี้เมื่อวัดตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 จะเห็นว่า Benchmark มีกำไรแล้วที่ +1.69% แต่พอร์ตจริงก็ยังขาดทุนอยู่ -0.47% ซึ่งก็หมายความว่า ความพยายามที่จะเลือกกอง ที่จะปรับพอร์ตใน 7 เดือนที่ผ่านมา ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถ้าไม่ต้องคิดอะไรมากลงทุนตาม Benchmark ไป ยังได้ผลตอบแทนดีกว่าที่ทำมาถึง 2.16% ด้วยซ้ำ

แต่แม้ผลลัพธ์จะยังไม่ดี แต่ต้องอย่าลืมว่าระหว่างทางเราก็ได้ประสบการณ์มาหลายอย่าง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลือกกอง ที่ต้องยอมรับว่าแม้เราจะมองสินทรัพย์ได้ถูกต้อง แต่ถ้ากองที่เราเลือกมีความ Active จัดมาก ผลตอบแทนก็อาจจะไม่เป็นไปตามทิศทางเดียวกันของสินทรัพย์ได้ (เดือนที่แล้วก็โดน เดือนนี้ก็โดนอีก เดี๋ยวมาดูกันว่าโดนยังไงนะครับ)

แต่ก่อนที่จะไปวิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือนนี้ ผมอยากฉายภาพยาวๆ ให้ดูหน่อยว่า 7 เดือนที่ผ่านมา ในเชิงเปรียบเทียบแล้วพอร์ตที่จัดประพฤติตัวเป็นอย่างไร จากกราฟนี้ครับ

05-cumulative-return

กราฟข้างบนแสดงผลตอบแทนสะสม (Cumulative Return) ของสินทรัพย์ต่างๆ แบบแยกชิ้น รวมทั้งของพอร์ตทั้งพอร์ตจริง (Actual Portfolio) และพอร์ตที่เป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark Portfolio)

จากกราฟจะเห็นว่า Actual Portfolio นั้นแสนจะผันผวนต่ำ คือผลตอบแทนสะสมก็แกว่งอยู่แถวๆ ทุนนั่นล่ะครับ มีบางช่วงที่ชนะ Benchmark Portfolio บ้าง แต่ก็มาแพ้เอา 2-3 เดือนหลังนี้ (เพราะประเด็นเรื่องการเลือกกองที่จะพูดต่อไป)

ทีนี้ถ้าลองเทียบพอร์ตเรากับการเอาเงินไปทุ่มลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ใน 7 เดือนที่ผ่านมา ก็จะพบว่าพอร์ตนี้ก็มีดีอยู่บ้าง เพราะชนะ Thai Property และ Gold ซึ่งจนถึงปัจจุบันขาดทุนมากกว่า (ทองนี่ระหว่างทางผันผวนสุดๆ) แต่ถ้าถามว่าระหว่างทางแพ้อะไร ก็แพ้ทั้งหุ้นไทย หุ้นสหรัฐฯ แพ้กระทั่งตราสารหนี้ไทยล้วน

ลำพังแพ้หุ้นไทย และหุ้นสหรัฐฯ มันไม่เจ็บใจเท่าไรหรอกครับ เพราะความเสี่ยงมันอยู่คนละระดับ พอร์ตเราเสี่ยงกลาง ส่วนหุ้นนั้นเสี่ยงสูง แต่แพ้ตราสารหนี้ไทยนี่สิ มันช้ำนะ 55 ต้องสู้ต่อไป

ผมอยากชวนให้สังเกตประเด็นเรื่อง Path Dependent ที่ได้พูดถึงไปในสัมมนา DIY Portfolio ว่า เราจะสนใจแต่ผลตอบแทน ณ ตอนสิ้นสุดการลงทุน (End of Horizon Return) ไม่ได้ แต่ต้องสนใจผลตอบแทน(และผลขาดทุน) ระหว่างทาง (Intra-Horizon Return) ด้วย เพราะหลายคนจะทนไม่ไหว หยุดลงทุนไปก่อนกลางทาง

ซึ่งใน 7 เดือนนี้อาจเกิดกับคนที่ถือทองคำ เพราะระหว่างทางมีช่วงที่ย่อลงไปถึงเกือบ -12% ก่อนที่จะดีขึ้นมาอยู่ที่ -5% ส่วนหุ้นไทยก็มีเบาๆ เพราะมีช่วงย่อลงไป -4% เหมือนกัน ก่อนที่จะกลับมากำไร +3%

สำหรับคนที่รับความผันผวนได้ ประเด็นเรื่อง Path Dependent นี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะลบยังไงก็ทนไหว แต่สำหรับคนที่รับความผันผวนไม่ได้ขนาดนั้น พอร์ตแบบเสี่ยงกลางๆ เช่นที่ลงอยู่นี้มันก็ให้ความสบายใจได้อยู่ แม้ 7 เดือนนี้อาจจะได้น้อย แต่โครงสร้างพอร์ตแบบนี้ถือไปยาวๆ ก็มีลุ้นที่ 7-8% ต่อปีได้อยู่ ซึ่งถ้าเป้าหมายเราคือที่ประมาณนั้น เราก็เลือกมาใช้เป็นวิธีการลงทุนของเราได้ แต่ถ้าเป้าเราไม่ใช่แบบนี้ พอร์ตนี้ก็ไม่เหมาะนะครับ


วิเคราะห์องค์ประกอบผลตอบแทน (Performance Attribution)

04-attribution

(ตารางนี้ก็เป็นตารางที่อธิบายด้วยการพิมพ์ค่อนยาก ดังนั้นอยากให้ลองกลับไปดู วีดีโอที่ผมพาอ่านตารางนี้ตอนเดือน ก.ย. ดู จะเข้าใจมากขึ้นนะครับ)

ระดับแรก ลองดูภาพใหญ่เรื่องของการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ก่อน ลองดูที่ตาราง Benchmark ด้านขวานะครับ

ทบทวนสถานะพอร์ต ณ ตอนนี้ก่อน ว่าเมื่อเทียบกับแผน SAA แล้วเราทำอะไรอยู่ จะได้ข้อสรุปดังนี้

Overweight
– Thai Bond
– Foreign Stock

Neutral Weight
– สินทรัพย์ทางเลือก

Underweight
– Thai Property
– Thai Stock

ส่วนที่ Neutral Weight เราจะไม่ไปตัดสินมัน เพราะถือว่าเป็นการลงทุนตามแผนระยะยาว แต่เราจะมาดูกันว่าเรา Overweight/Underweight ถูกสินทรัพย์หรือไม่ โดยจากตารางเดือนนี้จะเห็นว่า

  • M-Property ขาดทุน -1.34% แสดงว่าที่ Underweight Thai Property ไว้ก็ทำได้ถูกต้อง เพราะถือเป็นการลดน้ำหนัก ในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนไม่ดี
  • S&P500 กำไรน้อยกว่า SET ก็แสดงว่าที่เรา Overweight Foreign Stock แต่ Underweight Thai Stock เดือนนี้ก็ถือว่าผิดไป เพราะถือว่าเป็นการลดน้ำหนักในสินทรัพย์ที่กำไรมากกว่าแต่ดันไปให้น้ำหนักกับสินทรัพย์ที่กำไรน้อยกว่าแทน

เนื่องจากอัพเดทนี้เป็นเดือนต่อเดือน ผลมันก็จะแกว่งไปแกว่งมาแบบนี้ เดี๋ยวพอครบปี ผมจะเอาผลลัพธ์มาเขียนแบบภาพใหญ่รายปีให้ดูอีกทีนะครับ

โดยรวมเดือนนี้ พอร์ต Benchmark ของเรากำไรนิดหน่อยที่ +0.10% ถือว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร ทีนี้ไปดูระดับที่สองกันครับ ว่าทำไมเราถึงขาดทุนเยอะจังตั้ง -0.36%

 

ระดับที่สอง คือเรื่องของการเลือกกอง (Fund Selection) ก็ให้ลัดไปดูที่คอลัมน์ขวาสุดที่เขียนว่า Alpha ทีละบรรทัด ซึ่งก็คือการเอาผลตอบแทนของกองทุน ลบกับ Benchmark ของมัน จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • K-FIXED ตีว่าเสมอ Benchmark 
  • T-PropInfraFlex ชนะ Benchmark นิดหน่อย +0.35%
  • BTP ชนะ Benchmark นิดหน่อย +0.30%
  • UTSME แย่กว่า Benchmark มาก (ขาดทุนมากกว่า SET TRI ถึง -3.92%)
  • TMBAGLF ชนะ Benchmark มาก ถึง 1.82%
  • ABAGS แย่กว่า Benchmark มาก แบบสวนทาง (S&P500 กำไร กองขาดทุน)
  • SCBUSSM แย่กว่า Benchmark มาก (แต่ก็ไม่แย่เท่า ABAGS)
  • CIMB-PRINCIPAL GIF ชนะ Benchmark มากถึง 4.46%
  • TMBGOLDS พอๆ กับ Benchmark เพราะเป็น Index Fund

จะเห็นว่าเดือนนี้ ตัวปัญหาก็คือกองที่ไฮไลท์สีแดงเอาไว้ นั่นคือ UTSME, ABAGS, SCBUSSM เพราะให้ผลตอบแทนสวนกับสินทรัพย์ภาพใหญ่ที่ตัวกองลงทุนอยู่ค่อนข้างมาก

  • UTSME แพ้ SET ร่วม 4% เพราะถือหุ้นเล็ก กลางที่ P/E สูงอยู่มาก ด้วยเพราะเชื่อว่ามี High Growth แต่เดือนที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ก็ตก ในขณะที่หุ้นใหญ่ๆ บวกกัน
  • ABAGS, SCBUSSM ลงทุนในหุ้นเล็กของสหรัฐฯ ซึ่งแม้ระยะยาวผลตอบแทนจะดีกว่าหุ้นใหญ่ใน S&P500 แต่ 2 เดือนที่ผ่านมา หุ้นใหญ่ขึ้นแต่หุ้นเล็กตก ก็เลยซวยไป

ถ้าใครจำตอนที่เรียน DIY Portfolio วันแรกช่วงบ่ายได้ จะจำได้ว่าผมค่อนข้างเน้นว่า หุ้นเล็กมันมีเสน่ห์ที่ผลตอบแทน แต่ก็ต้องเตรียมรับสภาพว่าในบางช่วง มันอาจจะเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กับตลาดหุ้นภาพใหญ่ ซึ่ง 2 เดือนมานี้ เหตุการณ์ที่บอกไปกำลังเกิดขึ้นกับหุ้นเล็กทั้งในไทย และสหรัฐฯ อยู่ครับ

ซึ่งสำหรับกรณีของหุ้นเล็กไทย และหุ้นเล็กสหรัฐฯ แม้ผลลัพธ์จะเป็นแบบนี้ แต่ผมก็ยัง Happy ที่จะถือลงทุนต่อระยะยาว เพราะยังเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นใหญ่อยู่ และอีกอย่างนี่ก็ไม่ใช่การทุ่มลงทุนในกองพวกนี้ด้วยเงินทั้งหมด หรือด้วยเงินมากๆ เรายังมีสินทรัพย์อื่นๆ ช่วยอยู่ด้วยอีกหลายทรัพย์เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนว่า ผลการวิเคราะห์ข้างต้นนั้น เป็นของเดือนนี้เท่านั้น ควรกลับไปอ่านของเดือนก่อนๆ ดูด้วย จะเห็นพัฒนาการ

ในความเป็นจริง ผมไม่ได้ให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์รายเดือน แล้วปรับพอร์ตตามมันขนาดนั้น แต่ก็ติดตามแนวโน้มไปเรื่อยๆ ถ้าเห็นอะไรที่ห่วยชัดเจนต่อเนื่อง ก็ค่อยตัดสินใจปรับ อย่าลืมว่าทุกกองที่ลงไป ก่อนลงเราก็คัดสรรมาอย่างดีแล้ว และให้น้ำหนักกับระยะยาว ดังนั้นการที่มันพลาดไม่กี่เดือน คงไม่ใช่เหตุผลที่จะเอาออก


แล้วจะปรับพอร์ตยังไง

จริงๆ แล้วผมค่อนข้างพอใจในสถานะปัจจุบันของพอร์ตแล้ว ปัญหาที่มีในเรื่องกองที่เลือกไม่ Perform นั้น ผมคิดว่าเป็นปัญหาระยะสั้น พอร์ตลักษณะนี้ผมจะถือเป็นหลักปี ดังนั้นจึงยังไม่ได้คิดจะปรับโครงสร้างอะไรมันมากมาย

แต่เนื่องจากเดือนนี้มีเงินใหม่รอลงทุนอีก 5,414.04 บาท ซึ่งต้องตัดสินใจลงทุน ผมคิดว่าจะนำเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้นไทย โดยยังคงใช้ 2 กองเดิม แบ่งเป็น

  • BTP 2,500 บาท
  • UTSME 2914.04 บาท

เหตุผลที่เลือกหุ้นไทยก็เพราะ

  • สัดส่วนการลงทุนปัจจุบัน ยังคงพร่องกว่า SAA อยู่ (ตั้งใจมีหุ้นไทย 30% ปัจจุบันเพิ่งจะมี 23.5%)
  • หุ้นไทยพักฐานมานาน โดยแกว่งอยู่ที่ดัชนีแถวๆ 1,560 – 1580 มา 2-3 เดือนแล้ว และดัชนีก็ยืนอยู่เหนือเส้น Moving Average 20 สัปดาห์ (100 วัน) และ 40 สัปดาห์ (200 วัน) ซึ่งถ้าตีความแบบง่ายๆ ก็บ่งชี้ว่าภาพระยะกลาง ระยะยาวก็ยังเป็นขาขึ้นอยู่ ผมก็เดาว่าถ้ามันจะไปซักทาง ระหว่างขึ้นกับลง ฝั่งขึ้นน่าจะมีโอกาสมากกว่า
  • ยิ่งถ้าเอาไปจับแพะชนแกะรวมกับเรื่องที่ว่า Trump เริ่มเจอปัญหาติดขัดในการดำเนินนโยบายบางอย่างไม่ได้อย่างที่คิด (ล่าสุดเรื่องยกเลิก Obamacare) ก็น่าจะเกิดการพักฐานในหุ้นสหรัฐฯ และมีเงินไหลกลับมายังตลาดกำลังพัฒนาบ้าง โดยบ้านเราก็น่าจะได้อานิสงฆ์อยู่

ดังนั้น ผมจึงทำการสั่งซื้อและขายกองทุนดังรายการต่อไปนี้

06-trade-summary

ไว้เดือนหน้าเรามาติดตามกันต่อนะครับ

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (ก.พ. 60)

model-portfolio-feb-2017

Model Portfolio เดือน ก.พ. 60

ปี 2560 ผ่านไปอีก 1 เดือน รวมเป็น 6 เดือนของการลงทุนใน Model Port งลูกสาวผม จากวันนี้ยังเหลือระยะเวลาการลงทุนอีก 17 ปี 10 เดือน เสมือนเราเดินทางมาแล้ว 2.7% ของเส้นทาง

เอเจเอก็มีพัฒนาการขึ้นมาก เริ่มพูดและหัวเราบ่อยขึ้น น้ำหนักตอนนี้ก็ทะลุ 8 กิโลขึ้นไปแล้ว จ้ำม่ำทีเดียว หน้าตาก็เริ่มจะมีแววความเป็นหญิงเพิ่มเข้ามาหน่อยนึงล่ะ

aj-feb-2017

หน้าหนูหวานขึ้นบ้างมั๊ยค่ะ ?

ปล. ท่านที่เพิ่งเข้ามาอ่านเดือนนี้เป็นเดือนแรก ถ้างงๆ ว่าอยู่ดีๆ ก็พูดถึงพอร์ตลูกสาว เรื่องมันเป็นยังไงมายังไง ขอให้กลับไปตั้งหลักที่ โพสนี้ ก่อนนะครับ


สถานะพอร์ต ณ 28 ก.พ. 60

ลำดับแรกดาวโหลดไฟล์ Excel ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน คลิ๊กที่นี่ ครับ

01-outstanding

มูลค่าพอร์ต ณ 28 ก.พ. 60 อยู่ที่ 229,855.79 บาท โดยมูลค่านี้รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน ก.พ. 60 อีก 5,000 บาทเข้าไปด้วยแล้ว (จะเห็นยอดเงินนั้นแสดงอยู่ในช่อง Cash คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.2% ของพอร์ต) ซึ่งในตอนท้ายเราก็ต้องตัดสินใจกันด้วยว่า เงินก้อนนี้จะลงทุนในกองทุนไหน

สัดส่วนการลงทุนปัจจุบันก็แบ่งเป็น

  • เงินสด 2.2% / 0.0%
  • ตราสารหนี้ไทย 15.4% / 7.5%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 0.0% / 7.5%
  • อสังหาริมทรัพย์ 21.4% / 25.0%
  • หุ้นไทย 24.0% / 30.0%
  • หุ้นต่างประเทศ 28.9% / 20.0%
  • สินทรัพย์ทางเลือก 8.2% / 10.0%

ตัวเลขด้านหน้าคือน้ำหนักที่ลงทุนจริง ตัวเลขด้านหลังเครื่องหมาย “/” คือสัดส่วนตาม Strategic Asset Allocation (SAA) หรือแผนระยะยาว ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบัน Underweight หุ้นไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศอยู่ น้ำหนักการลงทุนจึงไปบวมที่ตราสารหนี้ไทย เพราะพักเงินไว้ที่นี่

ข้อสังเกต พอร์ตปัจจุบัน ยังไม่ได้ลงทุนเต็มความเสี่ยงที่ตั้งใจไว้ เพราะมีเงินรออยู่ในตราสารหนี้ไทยถึง 15.4% (ประมาณ 35,000 บาท) ซึ่งก็ทยอยปรับไปเรื่อยๆ

เพื่อให้เห็นพัฒนาการของพอร์ต เราลองมาดูประวัติการปรับพอร์ตของพอร์ตนี้กันผ่านรูปด้านล่างนี้นะครับ

06-aa-history

จะเห็นว่าผ่านมา 6 เดือน สัดส่วนของ Thai Bond ลดลงอย่างมีนัยยะ และไป Overweight ให้กับ Foreign Stock แทน Thai Property เนื่องจากไม่ได้ซื้อเพิ่มนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 59 ก็จะ Underweight ตัวเองลงไปโดยอัตโนมัติครับ


ผลกำไร/ขาดทุน

02-profit

เดือนนี้มีเรื่องผิดคาดมาก เพราะในความรู้สึกคือสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ได้ปรับลงอะไรมากมาย ถือเป็นเดือนที่ดีด้วยซ้ำ แต่พอร์ตกลับขาดทุน 625.54 บาท หรือ -0.28%

และ ถ้านับตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 พอร์ตก็พลิกกลับมาขาดทุน – 144.21 บาท หรือ -0.10% (อ่านค่าตรงบรรทัดสุดท้ายของตาราง) ทั้งๆ ที่เดือนที่แล้วเพิ่งจะพลิกเป็นกำไรครั้งแรกแท้ๆ ตอนนี้ก็เสมือนว่าผ่านไป 6 เดือนได้เก็บแต่เงินต้น

เอาน่า… ก็ยังดีจากพอร์ต 2 แสน ก็กลายมาเป็น 2.3 แสนแล้ว เกมส์นี้ต้องดูกันไปยาวๆ ครับ

 


ผลการดำเนินงานที่ทำได้นั้นดี/เลวแค่ไหน (Benchmarking)

ในที่นี่ก็ต้องเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ที่เหมาะสมสักชุด ซึ่งกำหนดไว้แล้วใน Investment Policy Statement (IPS) คือ

  • ThaiBMA 1-3Y Gov. Bond Index – 15%
  • M-PROPERTY – 25%
  • SET TRI – 30%
  • S&P500 TRI – 20%
  • LBMA Gold AM – 10%

โดย Weight ที่ให้กับ Index แต่ละตัว ก็สะท้อนมาจากแผน SAA เพราะเราอยากจะรู้ว่าหากวัดเทียบกับพอร์ต SAA ที่ไม่ปรับสัดส่วน Overweight/Underweight อะไรเลยระหว่างทาง เราทำได้ดีแค่ไหน

03-benchmark

ซึ่งผลลัพธ์ของเดือนนี้ ถือว่าทำได้แย่มาก เพราะ Benchmark กำไร +0.88% แต่พอร์ตขาดทุน -0.28% เน็ทแล้วแพ้ Benchmark อยู่ -1.16%

ที่ว่าแย่ก็เพราะแค่ลงทุนเลียนแบบ Benchmark ง่ายๆ ไม่ต้องเลือกไม่ต้องปรับอะไรมาก็ได้กำไรแล้ว แต่เพราะเรามาทำนั่นทำนี่ผลลัพธ์กลับแย่ลง ซึ่งเดี๋ยวต้องมาดูกันว่า เราตัดสินใจอะไรผิดพลาดไป

ทั้งนี้เมื่อวัดตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 จะเห็นว่า Benchmark มีกำไรแล้วที่ +1.59% แต่พอร์ตจริงก็ยังขาดทุนอยู่ -0.11% หากจะย้ำให้เจ็บอีกทีก็คือ 6 เดือนมานี้ ไม่ต้องคิดอะไรมากลงทุนตาม Benchmark ไป ยังได้ผลตอบแทนดีกว่าที่ทำมาถึง 1.70%

ทีนี้มาดูกันซิว่า ทำไมเดือน ก.พ. 60 ผลตอบแทนออกมากลับทิศกลับทางกับ Benchmark ซะขนาดนั้น ?


วิเคราะห์องค์ประกอบผลตอบแทน (Performance Attribution)

04-attribution

(ตารางนี้ก็เป็นตารางที่อธิบายด้วยการพิมพ์ค่อนยาก ดังนั้นอยากให้ลองกลับไปดู วีดีโอที่ผมพาอ่านตารางนี้ตอนเดือน ก.ย. ดู จะเข้าใจมากขึ้นนะครับ)

ระดับแรก ลองดูภาพใหญ่เรื่องของการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ก่อน ลองดูที่ตาราง Benchmark ด้านขวานะครับ

เดือนนี้หุ้นไทย (วัดผ่าน SET TRI) และอสังหาฯไทย (วัดผ่าน M-PROPERTY) ให้ผลตอบแทนเป็นลบนิดหน่อยดังนั้นการที่พอร์ต Underweight สินทรัพย์เหล่านี้ ก็ถือว่าถูกต้อง เพราะเป็นการลงทุนน้อยกว่าแผนในสินทรัพย์ที่ขาดทุน

  • อสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบัน 21.4% / แผน SAA 25.0%
  • หุ้นไทย ปัจจุบัน 24.0% / แผน SAA 30.0%

ส่วนหุ้นต่างประเทศ (วัดโดย S&P500 TRI) ที่พอร์ต Overweight สินทรัพย์นี้อยู่ตอนนี้

  • หุ้นต่างประเทศ ปัจจุบัน 28.9% / แผน SAA 20.0%

ก็บวกเดือนเดียวมากถึง +4.14% ซึ่งก็หมายความว่า การตัดสินใจ Overweight หุ้นต่างประเทศ จากน้ำหนักตาม SAA 20% ขึ้นมาเป็น 28.9% นั้นถูกต้องแล้ว

ส่วนสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งในที่นี้คือทองคำ (วัดผ่าน LBMA Gold AM) ซึ่งปัจจุบัน Underweight อยู่นิดหน่อย

  • สินทรัพย์ทางเลือก 8.2% / 10.0%

ก็ถือว่าตัดสินใจผิด เพราะเดือนนี้ทองมากที่สุดในทุกสินทรัพย์ บวกถึง +4.43% แต่ต่อให้ตัดสินใจถูก นัยยะต่อพอร์ตก็ไม่มาก เพราะตามแผนก็อยู่แค่ประมาณ 10% ของพอร์ตเท่านั้น ไม่เหมือนหุ้นไทยและหุ้นตปท. ที่จะมี Impact มากกว่า

โดยรวมเดือนนี้ผมให้คะแนนตัวเองว่า ให้น้ำหนักกับ Asset Class ต่างๆ ได้ถูกต้อง แต่เอ๊ะ แล้วทำไมผลตอบแทนมันดันออกมาขาดทุนล่ะ ต้องลองไปดูกันต่อในระดับที่สองครับ

ระดับที่สอง คือเรื่องของการเลือกกอง (Fund Selection) ก็ให้ลัดไปดูที่คอลัมน์ขวาสุดที่เขียนว่า Alpha ทีละบรรทัด ซึ่งก็คือการเอาผลตอบแทนของกองทุน ลบกับ Benchmark ของมัน จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • K-FIXED ดีกว่า Benchmark นิดหน่อย แต่มีนัยน้อยมาก
  • T-PropInfraFlex แย่กว่า  Benchmark นิดหน่อย
  • BTP แย่กว่า Benchmark นิดหน่อย
  • UTSME แย่กว่า Benchmark มาก (ขาดทุนมากกว่า SET TRI ถึง -3.41%)
  • TMBAGLF แม้จะบวก 1.36% แต่ก็แย่กว่า Benchmark ถึง -2.78%
  • ABAGS แย่กว่า Benchmark มาก แบบสวนทาง (S&P500 กำไร กองขาดทุน)
  • SCBUSSM แย่กว่า Benchmark มาก (แต่ก็ไม่แย่เท่า ABAGS)
  • CIMB-PRINCIPAL GIF แม้จะมีกำไร 2.68% แต่ก็ถือว่าแย่กว่า Benchmark
  • TMBGOLDS พอๆ กับ Benchmark เพราะเป็น Index Fund

จะเห็นว่าเดือนนี้ ที่มาของความผิดพลาดส่วนใหญ่ เกิดจาก Fund Selection คือการเลือกกองทุนผิด นั่นคือกองทุนส่วนใหญ่ที่เลือกมา แพ้ Benchmark ของตัวมันเอง

  • กองทุนอสังหาฯ ที่เลือก (T-PropInfraFlex) แพ้ M-PROPERTY
  • กองทุนหุ้นไทยที่เลือก (BTP, UTSME) แพ้ SET TRI
  • กองทุนหุ้นต่างประเทศที่เลือก แพ้ S&P500 TRI แยกเป็น
    • TMBAGLF แพ้เพราะเลือกผิด Region
    • ABAGS, SCBUSSM แม้เพราะเลือกผิด Style เพราะ 2 กองนี้ลงทุนในหุ้นเล็ก แต่เดือนที่ผ่านมาหุ้นใหญ่ขึ้นมากกว่า
    • CIMB-PRINCIPAL GIF แพ้เพราะเลือกผิด Sector เนื่องจากกองนี้ลงทุนใน Global Infrastructure แต่เดือนที่แล้ว Broad Sector ขึ้นมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนว่า ผลการวิเคราะห์ข้างต้นนั้น เป็นของเดือนนี้เท่านั้น ควรกลับไปอ่านของเดือนก่อนๆ ดูด้วย จะเห็นพัฒนาการ

ในความเป็นจริง ผมไม่ได้ให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์รายเดือน แล้วปรับพอร์ตตามมันขนาดนั้น แต่ก็ติดตามแนวโน้มไปเรื่อยๆ ถ้าเห็นอะไรที่ห่วยชัดเจนต่อเนื่อง ก็ค่อยตัดสินใจปรับ อย่าลืมว่าทุกกองที่ลงไป ก่อนลงเราก็คัดสรรมาอย่างดีแล้ว และให้น้ำหนักกับระยะยาว ดังนั้นการที่มันพลาดไม่กี่เดือน คงไม่ใช่เหตุผลที่จะเอาออก


แล้วจะปรับพอร์ตยังไง

จริงๆ แล้วผมค่อนข้างพอใจในสถานะปัจจุบันของพอร์ตแล้ว ปัญหาที่มีในเรื่องกองที่เลือกไม่ Perform นั้น ผมคิดว่าเป็นปัญหาระยะสั้น พอร์ตลักษณะนี้ผมจะถือเป็นหลักปี ดังนั้นจึงยังไม่ได้คิดจะปรับโครงสร้างอะไรมันมากมาย

แต่เนื่องจากเดือนนี้มีเงินใหม่เข้ามาอีก 5,000 บาท ซึ่งต้องตัดสินใจลงทุน ผมคิดว่าจะนำเงินทั้งหมดไปซื้อ TMBGOLDS เพิ่ม ซึ่งก็จะทำให้สัดส่วนของสินทรัพย์ทางเลือกในพอร์ตเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับแผน SAA ที่ 10%

เหตุผลที่เลือกทองคำก็เพราะ

  • นึกไม่ออกว่าจะลงอะไรเพิ่ม ก็เลยเพิ่มทอง เพราะสัดส่วนปัจจุบันพร่องอยู่จากแผน SAA ประมาณ 2% พอดี ซึ่งใกล้เคียงกับเงินใหม่ที่เข้ามาในเดือนนี้ ถือเป็นการ Rebalance พอร์ตส่วนที่ไว้ป้องกันความเสี่ยง ให้อยู่ในระดับที่ใกล้แผนมากขึ้น
  • มุมมองแบบ Trend Following แบบที่ดูแต่กราฟอย่างเดียว ราคาทองก็มีแนวโน้มที่น่าสนใจ คือกราฟ Week ตัดเส้น Moving Average 20 สัปดาห์ (100 วัน) ขึ้นแล้ว และกำลังจะตัดเส้น 40 สัปดาห์ (200 วัน) ถ้าตัดได้ก็น่าจะยืนยันขาขึ้นได้ (หรือจะพลิกกลับมาเป็น Sideway ก็ไม่รู้นะครับ อันนี้ตีความจากกราฟวันนี้อย่างเดียว)

gold

 

ดังนั้น ผมจึงทำการสั่งซื้อและขายกองทุนดังรายการต่อไปนี้

05-trade

ไว้เดือนหน้าเรามาติดตามกันต่อนะครับ