สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (ธ.ค. 59)

model-portfolio-dec-2016

Model Portfolio เดือน ธ.ค. 59

สวัสดีปีใหม่ 2560 ครับผม

เข้าสู่เดือนที่ 4 ของการลงทุนใน Model Port ของลูกสาวผม “เอเจ” แล้วนะครับ โดยธรรมเนียมก็ต้องมีการอัพเดตพัฒนาการของลูกสาว ซึ่งปัจจุบันอายุได้ 2 เดือนครึ่งแล้ว น้ำหนักตัวกำลังพุ่งทีเดียว

aj-dec2016

จากรูปเป็นแฟชั่นต้อนรับปีใหม่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “สลิ่มน้ำกะทิ” เริ่มจากหมวกขาว เสื้อเขียว กางเกงฟ้า และถุงเท้าชมพู ช่างน่ารักชวนให้มีกำลังใจในการบริหารจัดการพอร์ตให้เธอต่อไปอีกร่วม 18 ปีจริงๆ

 

ส่วนท่านที่เพิ่งเข้ามาอ่านเดือนนี้เป็นเดือนแรก ถ้างงๆ ว่าอยู่ดีๆ ก็พูดถึงพอร์ตลูกสาว แล้วจะลงทุนไปอีกตั้ง 18 ปี มันเป็นยังไงมายังไง ขอให้กลับไปตั้งหลักที่ โพสนี้ ก่อนนะครับ


สถานะพอร์ต ณ 30 ธ.ค. 59

ลำดับแรกดาวโหลดไฟล์ Excel ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน คลิ๊กที่นี่ ครับ

01-outstandin-dec-2016

มูลค่าพอร์ต ณ 30 ธ.ค. 59 อยู่ที่ 219,036.32 บาท โดยมูลค่านี้รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน ธ.ค. 59 อีก 5,000 บาทเข้าไปด้วยแล้ว (จะเห็นยอดเงินนั้นแสดงอยู่ในช่อง Cash คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.3% ของพอร์ต) ซึ่งในตอนท้ายเราก็ต้องตัดสินใจกันด้วยว่า เงินก้อนนี้จะลงทุนในกองทุนไหน

นอกจากนั้นยังมีเงินปันผลรับอีก 414.04 บาท จากกอง T-PropInfraFlex ซึ่งจ่ายมาระหว่างเดือน ธ.ค. 59 รวมแล้วทำให้เรามีเงินสดรอลงทุนในเดือนนี้เท่ากับ 5,000 + 414.04 = 5,414.04 บาท

สัดส่วนการลงทุนปัจจุบันก็แบ่งเป็น

  • เงินสด 2.5% / 0.0%
  • ตราสารหนี้ไทย 22.9% / 7.5%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 0.0% / 7.5%
  • อสังหาริมทรัพย์ 22.3% / 25.0%
  • หุ้นไทย 21.8% / 30.0%
  • หุ้นต่างประเทศ 22.6% / 20.0%
  • สินทรัพย์ทางเลือก 8.0% / 10.0%

ตัวเลขด้านหน้าคือน้ำหนักที่ลงทุนจริง ตัวเลขด้านหลังเครื่องหมาย “/” คือสัดส่วนตาม Strategic Asset Allocation (SAA) หรือแผนระยะยาว ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบัน Underweight หุ้นไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศอยู่ น้ำหนักการลงทุนจึงไปบวมที่ตราสารหนี้ไทย เพราะพักเงินไว้ที่นี่

ข้อสังเกต พอร์ตปัจจุบัน ยังไม่ได้ลงทุนเต็มความเสี่ยงที่ตั้งใจไว้ เพราะมีเงินรออยู่ในตราสารหนี้ไทยถึง 22.9% (ประมาณ 50,000 บาท)


ผลกำไร/ขาดทุน

02-profit-dec-2016

เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเดือนที่เงียบๆ เนื่องจากเป็นเดือนสุดท้ายของปี นักลงทุนทั่วโลกก็เริ่มพักผ่อนกัน พอร์ตก็พอจะมีกำไรนิดหน่อย คือ 271.95 บาท หรือ +0.13%

ส่วนถ้านับตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 ก็จะ ยังขาดทุนอยู่ 963.68 บาท หรือ -0.48% (อ่านค่าตรงบรรทัดสุดท้ายของตาราง) ซึ่งจะเห็นว่าก็ไม่ได้ผันผวนเยอะแยะมากมายอะไร สำหรับพอร์ตเสี่ยงกลางแบบนี้

ที่ตั้งใจอัพเดทพอร์ตให้เห็นทุกเดือน เพื่อที่จะให้ทุกท่านทราบด้วยว่า ในระหว่างเส้นทางการลงทุน เราจะได้เจอประสบการณ์แบบไหนบ้าง เพราะยังมีหลายคนเชื่อว่า จัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงแล้ว มันไม่น่าจะขาดทุน ก็ต้องบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีการขาดทุนในระยะสั้น เพราะมันจะมีแน่นอน แต่การกระจายความเสี่ยงมันช่วยให้ขาดทุนไม่มากเกินไป เพื่อให้เรามีกำลังใจถือลงทุนได้ต่อเนื่อง จนได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวต่างหาก (อยากให้อ่าน บทความนี้ เพิ่มเติมเรื่องการกระจายความเสี่ยงนะครับ)

นอกจากผลกำไรขาดทุนที่ตารางนี้พยายามบอกกับเราแล้ว มันยังบอกด้วยว่า พอร์ตเราโตขึ้นจาก 2 แสนเมื่อเริ่มลงทุน เป็นประมาณ 2.2 แสนแล้วนะครับ เพราะต้องอย่าลืมด้วยว่าในแผนการลงทุนนี้ เราไม่ได้อาศัยเพียงผลตอบแทนในการทำให้เงินโต แต่เราอาศัยวินัยจากการออมเพิ่มด้วย ตามคาดการณ์ในตารางนี้

07


ผลการดำเนินงานที่ทำได้นั้นดีแค่ไหน (Benchmarking)

ในที่นี่ก็ต้องเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ที่เหมาะสมสักชุด ซึ่งกำหนดไว้แล้วใน Investment Policy Statement (IPS) คือ

  • ThaiBMA 1-3Y Gov. Bond Index – 15%
  • M-PROPERTY – 25%
  • SET TRI – 30%
  • S&P500 TRI – 20%
  • LBMA Gold AM – 10%

โดย Weight ที่ให้กับ Index แต่ละตัว ก็สะท้อนมาจากแผน SAA เพราะเราอยากจะรู้ว่าหากวัดเทียบกับพอร์ต SAA ที่ไม่ปรับสัดส่วน Overweight/Underweight อะไรเลยระหว่างทาง เราทำได้ดีแค่ไหน

03-benchmarking-dec-2016

ซึ่งผลลัพธ์ของเดือนนี้ แม้จะมีกำไร +0.13% แต่ก็ถือว่าไม่ค่อยดี เพราะ Benchmark ของพอร์ต +0.22% ถือว่าแพ้ให้ Benchmark อยู่ 0.09% 

อย่างไรก็ตามเมื่อวัดตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 จะเห็นว่าพอร์ตได้ผลตอบแทน -0.49% ขณะที่ Benchmark ได้ -1.10% ก็ยังชนะนิดๆ คือมี Alpha = +0.61% นั่นคือวัดแบบ Absolute ก็ถือว่าขาดทุน แต่วัดแบบ Relative ก็ยังถือว่าใช้ได้ เพราะมันแปลว่า Active Decision ของเรา Create Value ให้กับพอร์ต (ในกรณีนี้คือขาดทุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น)


วิเคราะห์องค์ประกอบผลตอบแทน (Performance Attribution)

เช่นเคย สิ่งที่เราอยากรู้ก็คือ แล้วเราแพ้หรือชนะเพราะอะไร จะได้นำข้อมูลนั้นไปปรับปรุงพอร์ตต่อไป ซึ่งเดือนนี้ก็วิเคราะห์ออกมาได้ดังนี้

04-attribution-dec-2016

ตารางนี้ก็เป็นตารางที่อธิบายด้วยการพิมพ์ค่อนยาก ดังนั้นอยากให้ลองกลับไปดู วีดีโอที่ผมพาอ่านตารางนี้ตอนเดือน ก.ย. ดู จะเข้าใจมากขึ้นนะครับ

ระดับแรก ลองดูภาพใหญ่เรื่องของการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ก่อน ลองดูที่ตาราง Benchmark ด้านขวานะครับ

เริ่มจากสินทรัพย์ที่เป็นบวกก่อน เดือนนี้หุ้นไทย (แทนด้วย SET TRI) และหุ้นต่างประเทศ (แทนด้วย S&P500 TRI) ให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งคู่ ซึ่งหากดูในสัดส่วนสินทรัพย์ตาม Benchmark แล้ว เราควรจะมีหุ้นไทย 30% แต่ผมลงทุนจริงแค่ 20% ก็ถือว่าผิด ส่วนหุ้นต่างประเทศ เราควรจะมี 20% ซึ่งผมลงทุนจริงไป 20% เท่ากับ BM แล้ว ก็ไม่ถือว่าผิดอะไร (มาจาก TMBAGLF + ABAGS + SCBUSSM + CIMB GIF)

ส่วนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบ หลักๆ คืออสังหา และ ทองคำนั้น ผมตัดสินใจลงทุนพอๆ กับน้ำหนักตามแผนระยะยาว (Neutral Weight) ดังนั้น ก็จะขาดทุนพอๆ กับ Benchmark ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดอะไร ถ้าผิดคือผมดันไป Overweight พวกมัน

ระดับที่สอง คือเรื่องของการเลือกกอง (Fund Selection) ก็ให้ลัดไปดูที่คอลัมน์ขวาสุดที่เขียนว่า Alpha ทีละบรรทัด ซึ่งก็คือการเอาผลตอบแทนของกองทุน ลบกับ Benchmark ของมัน จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • K-FIXED พอๆ กับ Benchmark
  • T-PropInfraFlex ดีกว่า Benchmark
  • BTP แย่กว่า Benchmark
  • UTSME แย่กว่า Benchmark
  • TMBAGLF แย่กว่า Benchmark แบบกลับทิศกลับทาง
    เพราะ Benchmark เป็นหุ้นสหรัฐ แต่กองนี้เป็นหุ้นเอเชีย
    เท่ากับว่าผมเลือก Region ผิด
  • ABAGS ดีกว่า Benchmark มาก
  • SCBUSSM (ซึ่งเพิ่มเข้ามาเดือนที่แล้ว) ดีกว่า Benchmark มาก
  • CIMB-PRINCIPAL GIF (ซึ่งแผ่วมาหลายเดือน) เดือนนี้พุ่งเลย และดีกว่า Benchmark มาก
  • TMBGOLDS พอๆ กับ Benchmark (เพราะมันเป็น Index Fund)

ผมขอสรุปผลการวิเคราะห์ที่มาของผลตอบแทนโดยรวมๆ จากการวิเคราะห์ทั้งสองระดับ ดังนี้

  • จุดพลาดใหญ่ๆ คือผมดัน Underweight หุ้นไทยในเดือนที่หุ้นไทยดี และดันแบ่งไปลงทุนหุ้นประเทศอื่นนอกจากสหรัฐฯ ในเดือนที่หุ้นสหรัฐฯดี (ในที่นี้คือผมเลือกลงทุนใน TMBAGLF ซึ่งเป็นหุ้นโซนเอเชีย แทนที่จะแค่ลงทุนตาม Benchmark คือดัชนี S&P 500 อย่างไรก็ตาม ผมยังอยากดูต่อไปอีกสักพักก่อนยังไม่ปรับเปลี่ยนอะไร เพราะคิดว่า Valuation ของหุ้นเอเชียที่ TMBAGLF ลงทุนยังน่าสนใจ)
  • กองทุนหุ้นไทยที่เลือก คือ BTP และ UTSME ซึ่งชนะ Benchmark ได้ดีมาตลอดหลายเดือน เดือนนี้ก็แผ่วนิดหน่อย
  • ส่วนกองหุ้นต่างประเทศ ที่ลงทุนในฝั่งสหรัฐฯ และประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น ABAGS, SCBUSSM, CIMB-PRINCIPAL GIF ทั้ง 3 กองทำผลตอบแทนได้น่าประทับใจมาก
  • ทองคำ ซึ่งผมแบ่งเงินไปเพื่อกระจายความเสี่ยง ก็ยังคงลบต่อเนื่องมา 3 เดือนติดแล้ว แต่เนื่องจากวัตถุประสงค์คือเพื่อลดความเสี่ยงเวลาที่มีวิกฤติ (ซึ่งทองมักจะมีกำไรในช่วงแบบนั้น) ผมก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับมัน ก็มีถ่วงพอร์ตไว้แบบนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนว่า ผลการวิเคราะห์ข้างต้นนั้น เป็นของเดือนนี้เท่านั้น ควรกลับไปอ่านของเดือนก่อนๆ ดูด้วย จะเห็นพัฒนาการ

ในความเป็นจริง ผมไม่ได้ให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์รายเดือน แล้วปรับพอร์ตตามมันขนาดนั้น แต่ก็ติดตามแนวโน้มไปเรื่อยๆ ถ้าเห็นอะไรที่ห่วยชัดเจนต่อเนื่อง ก็ค่อยตัดสินใจปรับ อย่าลืมว่าทุกกองที่ลงไป ก่อนลงเราก็คัดสรรมาอย่างดีแล้ว และให้น้ำหนักกับระยะยาว ดังนั้นการที่มันพลาดไม่กี่เดือน คงไม่ใช่เหตุผลที่จะเอาออก


เรียนรู้ภาพใหญ่ 4 เดือนที่ผ่านมาจาก Benchmark

05-benchmark-monthly-dec-2016

จากตารางข้างต้น อ่านที่บรรทัดสุดท้าย จะพบว่าสินทรัพย์ต่างๆ ให้ผลตอบแทน 4 เดือน (ก.ย. – ธ.ค. 59) ดังนี้

  • ตราสารหนี้ไทย +0.29%
  • กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทย -3.41%
  • หุ้นไทย +0.10%
  • หุ้นสหรัฐฯ +4.32%
  • ทองคำ -11.82%

ถ้าเรารู้ล่วงหน้า เราคงไม่ต้องกระจายความเสี่ยงแล้ว

  • แค่ทุ่มลงในหุ้นสหรัฐฯ ทั้งหมดก็จะได้กำไรสูงสุด แต่มันไม่รู้นี่สิ ตอนนั้นยังไม่เห็นมีใครพูดเลยว่าหุ้นเมกาจะมา มีแต่บอกว่าแพง มันก็เพิ่งมาขึ้นมากๆ เอาช่วงที่ Trump ชนะเลือกตั้ง (ซึ่งก็หักปากกาเซียนอีก)
  • หรือถ้าใครเลือกลงทุนตามผลตอบแทนย้อนหลังเป็นหลัก จะพบว่า ช่วงต้นปี กองทุนอสังหาฯ และทองคำ ให้ผลตอบแทนดีมาก ใครทุ่มลง 2 Assets นี้ ครึ่งปีหลังก็จะขาดทุน (ซวยเลย)
  • ส่วนถ้าใครกลัวความเสี่ยง แช่เงินไว้ในตราสารหนี้ไทยอย่างเดียว ก็ได้มาประมาณ 0.29% ต่อ 4 เดือน หรือคิดเป็น 0.87% ต่อปี มากกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์นิดหน่อย

การพยายามจะเก็งว่า Asset ไหนจะวิ่ง มันยากตรงนี้แหละครับ

ส่วนการจัดพอร์ต Asset Allocation ก็เป็นสายกลางๆ จากตารางด้านบนจะเห็นว่า เมื่อนำ 5 สินทรัพย์นั้น มาประกอบกันเป็น Benchmark Port ในสัดส่วน 15:25:30:20:10 แล้ว 4 เดือนที่ผ่านมาก็จะขาดทุน -1.10%

คือไม่ขาดทุนหนักเท่าทองและอสังหาฯ แต่ก็ไม่ได้กำไรเหมือนหุ้นไทย และหุ้นสหรัฐฯ มันจะอยู่กลางๆ ระยะยาวถ้าผลตอบแทนของสินทรัพย์ทั้งหมดนี้ปรับขึ้น พอร์ตแบบ Asset Allocation ก็จะได้แถวกลางๆ

แต่สังเกตที่ผลตอบแทนรายเดือนของ Benchmark Port นะครับ จะเห็นว่าแทบไม่มีเดือนไหนที่ +/- เกิน 1% เลย ขณะที่คนที่ถือทองล้วน หุ้นล้วน อสังหาล้วน จะเหวี่ยงแรงกว่านั้น (บางเดือนบวกลบกัน 4-5%)

ซึ่งผมได้สอนไปในสัมมนา DIY Portfolio ประเด็นเรื่อง Path-Dependent แล้วว่า แม้ทรัพย์บางอย่างผลตอบแทนเมื่อถือยาวจะดี แต่ระหว่างทางถ้ามันเหวี่ยงมากไป บางคนก็ทนไม่ไหว เลิกล้มความตั้งใจไปก่อน สุดท้ายผลตอบแทนยาวๆ ที่ดีๆ ก็มีคนได้น้อยมาก เพราะถูกเหวี่ยงหลุดไปกลางทางแล้ว ซึ่งจากข้อมูล 4 เดือนมานี้ การจัดพอร์ตก็ช่วยลดความผันผวนระหว่างทางได้จริง

ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ก็จะพบว่า เขาไม่จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงก็ได้ ทุ่มลงทุนในทรัพย์ที่มั่นใจที่สุดเลยก็ได้ ดังนั้น วิธีการลงทุนแบบ Global Diversification นี้ใช่ว่าจะเหมาะกับคนทุกคน ต้องเลือกเอานะครับ ว่าเราต้องการแบบไหน


แล้วจะปรับพอร์ตยังไง

เดือนนี้ผมตัดสินใจว่าจะยังไม่แตะ “กระสุน” ที่พักรอไว้ใน K-FIXED ร่วม 50,000 บาท แต่จะลงทุนเฉพาะส่วนของเงินสดที่มีอยู่ 5,414.04 บาท

โดยจะเติมเข้าไปในหุ้นสหรัฐฯ อีก โดยใช้กอง SCBUSSM เช่นเดียวกับ เดือนที่แล้ว เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุนขั้นต่ำของกอง ABAGS (ซึ่งผมชอบมากกว่า SCBUSSM)

ส่วนเหตุผลที่เลือกหุ้นสหรัฐฯ นั้นก็เพราะมุมมองด้าน Trend Following เป็นหลัก เพราะหากพิจารณาแนวโน้มราคาหุ้นต่างประเทศในตลาดหลักๆ แล้ว ณ ปัจจุบันก็มีแค่หุ้นสหรัฐฯ ที่ยังคงเป็นขาขึ้นอยู่อย่างชัดเจน

chart-sp500

จากรูปเป็นกราฟ Week จากเว็บ Investing.com โดยผมใช้เกณฑ์ตามที่สอนไปในหลักสูตร DIY Portfolio เพื่อพิจารณาแนวโน้มภาพใหญ่ว่าเป็นทิศทางไหน โดยจากดัชนี S&P500 ณ ปัจจุบัน

  • ราคาหุ้นอยู่เหนือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 20 สัปดาห์ (MA 20-Week) หรือ 100 วัน สะท้อนขาขึ้นระยะกลาง
  • ราคาหุ้นอยู่เหนือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 40 สัปดาห์ (MA 40-Week) หรือ 200 วัน สะท้อนขาขึ้นระยะยาว
  • ราคาหุ้นอยู่ในกรอบ Trend Channel ขาขึ้น (สีเหลือง)

ส่วนราคาหุ้นอื่นๆ รวมทั้งราคาทองคำ อยู่ในแนวโน้มที่ไม่เป็นขาลงก็ Sideway จึงยังไม่ใช่เป้าหมายในการลงทุนเพิ่มของผมตอนนี้

ดังนั้น ผมจึงสั่งซื้อกองทุน SCBUSSM ยอด 5,414.04 บาท โดยสั่ง ณ วันที่ 2 ม.ค. 60 ซึ่งเป็นวันหยุด กว่ารายการจะเกิดจริงก็คือวันที่ 4 ม.ค. 60 ตามสถานะคำสั่งจากระบบของ Nomura ดังรูป

order-status-dec-2016

แล้วเดือนต่อไปเรามาตามดูกันครับ ว่าพอร์ตจะมีกำไรมั๊ย แล้วเอเจจะจ้ำม่ำขึ้นขนาดไหน ^__^