All posts by admin

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (ม.ค. 60)

model-portfolio-jan-2017

Model Portfolio เดือน ม.ค. 60

ปี 2560 ผ่านไปแล้ว 1 เดือน และถือเป็นเดือนที่ 5 ของการลงทุนใน Model Port ของลูกสาวผม ว่าแล้วไปอัพเดทกันนิดนึงว่าเจ้าของพอร์ตโตไปถึงไหนแล้ว

aj-icecream

ท่าทางเธอจะอยากกินไอติม แทนนมแม่ซะแล้ว ^__^

ปล. ท่านที่เพิ่งเข้ามาอ่านเดือนนี้เป็นเดือนแรก ถ้างงๆ ว่าอยู่ดีๆ ก็พูดถึงพอร์ตลูกสาว เรื่องมันเป็นยังไงมายังไง ขอให้กลับไปตั้งหลักที่ โพสนี้ ก่อนนะครับ


สถานะพอร์ต ณ 31 ม.ค. 60

ลำดับแรกดาวโหลดไฟล์ Excel ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน คลิ๊กที่นี่ ครับ

01-outstanding

มูลค่าพอร์ต ณ 31 ม.ค. 60 อยู่ที่ 225,481.33 บาท โดยมูลค่านี้รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน ม.ค. 60 อีก 5,000 บาทเข้าไปด้วยแล้ว (จะเห็นยอดเงินนั้นแสดงอยู่ในช่อง Cash คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.2% ของพอร์ต) ซึ่งในตอนท้ายเราก็ต้องตัดสินใจกันด้วยว่า เงินก้อนนี้จะลงทุนในกองทุนไหน

สัดส่วนการลงทุนปัจจุบันก็แบ่งเป็น

  • เงินสด 2.2% / 0.0%
  • ตราสารหนี้ไทย 22.3% / 7.5%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 0.0% / 7.5%
  • อสังหาริมทรัพย์ 22.0% / 25.0%
  • หุ้นไทย 20.8% / 30.0%
  • หุ้นต่างประเทศ 24.8% / 20.0%
  • สินทรัพย์ทางเลือก 8.0% / 10.0%

ตัวเลขด้านหน้าคือน้ำหนักที่ลงทุนจริง ตัวเลขด้านหลังเครื่องหมาย “/” คือสัดส่วนตาม Strategic Asset Allocation (SAA) หรือแผนระยะยาว ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบัน Underweight หุ้นไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศอยู่ น้ำหนักการลงทุนจึงไปบวมที่ตราสารหนี้ไทย เพราะพักเงินไว้ที่นี่

ข้อสังเกต พอร์ตปัจจุบัน ยังไม่ได้ลงทุนเต็มความเสี่ยงที่ตั้งใจไว้ เพราะมีเงินรออยู่ในตราสารหนี้ไทยถึง 22.3% (ประมาณ 50,000 บาท)


ผลกำไร/ขาดทุน

02-profit

เดือนแรกของปี 2017 ถือเป็นเดือนที่ดีสำหรับสินทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วโลก เดือนนี้พอร์ตเลยได้กำไรมา 1,445 บาท หรือ +0.66%

ส่วนถ้านับตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 ก็ถือเป็นเดือนแรกที่พอร์ตพลิกจากขาดทุนเป็นกำไร 481.33 บาท หรือ +0.24% (อ่านค่าตรงบรรทัดสุดท้ายของตาราง) ซึ่งก็หวังว่าเดือนต่อๆ ไปจะทำกำไรเพิ่มได้เรื่อยๆ (แม้มันจะคาดเดายากก็ตาม แต่ยังไงด้วยพอร์ตเสี่ยงกลางๆ ประมาณนี้ ถ้าพลาดก็พลาดไม่เยอะครับ)

ที่ตั้งใจอัพเดทพอร์ตให้เห็นทุกเดือน เพื่อที่จะให้ทุกท่านทราบด้วยว่า ในระหว่างเส้นทางการลงทุน เราจะได้เจอประสบการณ์แบบไหนบ้าง เพราะยังมีหลายคนเชื่อว่า จัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงแล้ว มันไม่น่าจะขาดทุน ก็ต้องบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีการขาดทุนในระยะสั้น เพราะมันจะมีแน่นอน แต่การกระจายความเสี่ยงมันช่วยให้ขาดทุนไม่มากเกินไป เพื่อให้เรามีกำลังใจถือลงทุนได้ต่อเนื่อง จนได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวต่างหาก (อยากให้อ่าน บทความนี้ เพิ่มเติมเรื่องการกระจายความเสี่ยงนะครับ)

นอกจากผลกำไรขาดทุนที่ตารางนี้พยายามบอกกับเราแล้ว มันยังบอกด้วยว่า พอร์ตเราโตขึ้นจาก 2 แสนเมื่อเริ่มลงทุน เป็นประมาณ 2.25 แสนแล้วนะครับ เพราะต้องอย่าลืมด้วยว่าในแผนการลงทุนนี้ เราไม่ได้อาศัยเพียงผลตอบแทนในการทำให้เงินโต แต่เราอาศัยวินัยจากการออมเพิ่มด้วย


ผลการดำเนินงานที่ทำได้นั้นดีแค่ไหน (Benchmarking)

ในที่นี่ก็ต้องเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ที่เหมาะสมสักชุด ซึ่งกำหนดไว้แล้วใน Investment Policy Statement (IPS) คือ

  • ThaiBMA 1-3Y Gov. Bond Index – 15%
  • M-PROPERTY – 25%
  • SET TRI – 30%
  • S&P500 TRI – 20%
  • LBMA Gold AM – 10%

โดย Weight ที่ให้กับ Index แต่ละตัว ก็สะท้อนมาจากแผน SAA เพราะเราอยากจะรู้ว่าหากวัดเทียบกับพอร์ต SAA ที่ไม่ปรับสัดส่วน Overweight/Underweight อะไรเลยระหว่างทาง เราทำได้ดีแค่ไหน

03-benchmark-2017-01

ซึ่งผลลัพธ์ของเดือนนี้ แม้จะมีกำไร +0.66% แต่ก็ถือว่าไม่ค่อยดี เพราะ Benchmark ของพอร์ต +1.82% ถือว่าแพ้ให้ Benchmark กระจุย คือแพ้มากึง -1.16% (มันเกิดจากอะไร เดี๋ยวรู้กันในหัวข้อถัดไป)

โดยเมื่อวัดตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 จะเห็นว่าพอร์ตได้ผลตอบแทน +0.17% ขณะที่ Benchmark ได้ +0.70% ถือว่าผมบริหารได้แพ้ Benchmark อยู่ที่ -0.53%

จะเห็นว่าหากวัดแบบ Absolute พอร์ตมีกำไร +0.17% อาจจะมองว่าก็ยังดีที่มีกำไร แต่หากเทียบแบบ Relative กับเกณฑ์มาตรฐานที่ความเสี่ยงพอๆ กัน ก็ถือว่าทำได้ไม่ดี พูดง่ายๆ ว่า “มีกำไรแต่ไม่เก่ง

ซึ่งมันก็สะสมการแพ้ การชนะมาเรื่อยๆ จากตารางจะเห็นว่า ก.ย. – ต.ค. 59 ชนะ ส่วน พ.ย. 59 – ม.ค. 60 แพ้ ผลลัพธ์ออกมาแบบนี้ก็ถือว่าไม่ค่อยดี เพราะถ้าตัดสินใจเองแล้วแพ้ การไม่ตัดสินใจ ก็ไม่ควรตัดสินใจแต่แรก

อย่างไรก็ตามหากดูละเอียดๆ จะพบว่าที่ผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มลงทุน (Since Inception) แพ้ Benchmark นั้น มาแพ้เยอะๆ ก็เดือน ม.ค. 60 เดือนเดียวเลย มาดูกันซิว่ามันเกิดจากอะไร ?


วิเคราะห์องค์ประกอบผลตอบแทน (Performance Attribution)

04-attribution-2017-01

ตารางนี้ก็เป็นตารางที่อธิบายด้วยการพิมพ์ค่อนยาก ดังนั้นอยากให้ลองกลับไปดู วีดีโอที่ผมพาอ่านตารางนี้ตอนเดือน ก.ย. ดู จะเข้าใจมากขึ้นนะครับ

ระดับแรก ลองดูภาพใหญ่เรื่องของการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ก่อน ลองดูที่ตาราง Benchmark ด้านขวานะครับ

เดือนนี้ทุกสินทรัพย์ใน Benchmark ต่างให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งหมด
โดยเฉพาะหุ้นไทย (วัดโดย SET TRI) บวกมากถึง +2.24% ซึ่งหากดูน้ำหนักตาม Benchmark (BM Weight) ผมควรจะลงหุ้นไทย 30% ของพอร์ต แต่กลับตัดสินใจลงทุนจริง (ผ่านกอง BTP และ UTSME) เพียงประมาณ 20% เท่านั้น ก็ถือว่าเป็นการไป Underweight สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี ซึ่งถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ต แพ้ Benchmark ในเดือนนี้

ส่วนหุ้นต่างประเทศ (วัดโดย S&P500 TRI) ซึ่งบวก +1.52% นั้น ตาม BM Weight ผมควรจะลงทุน 20% ของพอร์ต แต่ในความเป็นจริงตัดสินใจ Overweight ไปที่ 24.8% ของพอร์ต (ผ่านกอง TMBAGLF, ABAGS, SCBUSSM และ CIMB-PRINCIPAL GIF) การตัดสินใจนี้ในเดือนนี้ถือว่าถูกต้อง เพราะเป็นการ Overweight สินทรัพย์ที่ดีในเดือนที่ดี

เอ๊ะ แล้วทำไมมันถึงแพ้เยอะล่ะ ลองไปดูกันต่อในระดับที่สองซิ

ระดับที่สอง คือเรื่องของการเลือกกอง (Fund Selection) ก็ให้ลัดไปดูที่คอลัมน์ขวาสุดที่เขียนว่า Alpha ทีละบรรทัด ซึ่งก็คือการเอาผลตอบแทนของกองทุน ลบกับ Benchmark ของมัน จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • K-FIXED แย่กว่า Benchmark นิดหน่อย แต่มีนัยน้อยมาก
  • T-PropInfraFlex แย่กว่า  Benchmark
  • BTP แย่กว่า Benchmark แบบสวนทางเลย (SET กำไร กองขาดทุน)
  • UTSME ก็เช่นกัน แย่กว่า Benchmark แบบสวนทาง (SET กำไร กองขาดทุน)
  • TMBAGLF ดีกว่า Benchmark มาก บวกมากถึง 6.46% ซึ่งถือว่าผมเลือก Region ถูก เพราะถ้าลง S&P500 จะบวกแค่ 1.52%
  • ABAGS แย่กว่า Benchmark มาก แบบสวนทาง (S&P กำไร กองขาดทุน)
  • SCBUSSM แย่กว่า Benchmark มาก แบบสวนทาง (S&P กำไร กองขาดทุน)
  • CIMB-PRINCIPAL GIF แม้จะมีกำไร แต่ก็ถือว่าแย่กว่า Benchmark
  • TMBGOLDS แพ้ Benchmark มากพอสมควร ซึ่งก็ยังงงๆ ว่าทำไมแพ้มากถึง -0.45% ทั้งๆ ที่เป็น Index Fund ทุกๆ เดือนก็ทำได้ใกล้มาตลอด

จะเห็นว่าเดือนนี้ กองที่เลือกทำผลงานได้แย่แบบผิดหูผิดตา จึงทำให้แม้ Asset หรือ Index ที่กองทุนนั้นพยายามจะเอาชนะ (ซึ่งเราใช้เป็น Benchmark) จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ค่อนข้างดี แต่เพราะกองที่เราเลือกทำได้ไม่ดี เราก็เลยไม่ได้ผลตอบแทนดีๆ ค่านั้นตามไปด้วย
ถือว่า “จัดสรรสินทรัพย์ได้ถูก แต่เลือกกองได้ผิด T_T

อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนว่า ผลการวิเคราะห์ข้างต้นนั้น เป็นของเดือนนี้เท่านั้น ควรกลับไปอ่านของเดือนก่อนๆ ดูด้วย จะเห็นพัฒนาการ

ในความเป็นจริง ผมไม่ได้ให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์รายเดือน แล้วปรับพอร์ตตามมันขนาดนั้น แต่ก็ติดตามแนวโน้มไปเรื่อยๆ ถ้าเห็นอะไรที่ห่วยชัดเจนต่อเนื่อง ก็ค่อยตัดสินใจปรับ อย่าลืมว่าทุกกองที่ลงไป ก่อนลงเราก็คัดสรรมาอย่างดีแล้ว และให้น้ำหนักกับระยะยาว ดังนั้นการที่มันพลาดไม่กี่เดือน คงไม่ใช่เหตุผลที่จะเอาออก


แล้วจะปรับพอร์ตยังไง

เดือนนี้นอกจากเงิน 5,000 ที่ใส่เพิ่มเข้ามาใหม่ ผมตัดสินใจที่จะนำ “กระสุน” ที่พักรอไว้ใน K-FIXED ร่วม 50,000 บาท มาใช้ลงทุนด้วย โดยจะแบ่งมาก่อน 15,000 บาท หรือประมาณ 6.7% ของพอร์ต รวมทั้งสิ้นเดือนนี้ มีเงินที่จะนำไปลงทุนทั้งสิ้น 20,000 บาท โดยจะลงทุนในสินทรัพย์และกองทุนต่อไปนี้

  • หุ้นไทย 10,000 บาท โดยใช้กองเดิมที่เคยเลือกไว้ได้แก่ BTP 5,000 บาท และ UTSME อีก 5,000 บาท เพราะโดยส่วนตัวยังเชื่อว่าสองกองนี้ยังเป็นกองที่ใช้ได้ เป็นตัวแทนหุ้นใหญ่ และ หุ้นเล็กที่น่าจะดีในระยะยาว
  • หุ้นสหรัฐฯ ผ่านกองทุน SCBUSSM อีก 10,000 บาท ซึ่งสำหรับกองนี้ในช่วง 3 เดือน 6 เดือนที่ผ่านมาก็ถือเป็นกองหุ้นเล็กในสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดแล้ว ตามตารางด้านล่างนี้ (ที่มา : จากหน้าจอ Fund Performance ของระบบซื้อขายกองทุนของ Nomura)

05-us-fund-compare

เหตุผลที่เลือกหุ้นไทยและหุ้นสหรัฐฯ นั้น ส่วนหลักก็เป็นการตัดสินใจแบบ Trend Following เนื่องจากแนวโน้มราคายังอยู่ในทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง สำหรับหุ้นไทยก็ขึ้นมาทดสอบแถวๆ 1600 จุดแล้ว ถ้ายังขึ้นต่ออีกไปจนถึง 1650 ก็จะถือว่าเป็นการเบรกจุดสูงสุดเดิมเมื่อ พ.ค. 2013 หากทำได้จริง ตามแนวคิดแบบ Trend Following ก็น่าจะเห็นหุ้นไทยขึ้นต่อได้

ส่วนเหตุผลเชิงปัจจัยพื้นฐานก็มีประกอบด้วย สำหรับหุ้นไทย เช่น การเบิกจ่ายเงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกันหนักๆ ในปีนี้ ราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (คนมีกำลังซื้อมากขึ้น)

ส่วนสำหรับหุ้นสหรัฐฯ นั้น แม้จะตกใจกับสิ่งที่ทรัมป์ทำหลายๆ อย่าง แต่ผมคิดว่าเพียงมาตรการลดภาษีนิติบุคคล ก็น่าจะช่วยให้ กำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ดีขึ้นอย่างมากแล้ว และหากเชื่อว่าราคาหุ้นปรับขึ้นตามกำไร ก็มีสิทธิ์เห็นหุ้นสหรัฐฯ ไปต่อได้อีก

ในการทำรายการนั้น เนื่องจากผมมีเงินที่พร้อมลงทุนเลย 5,000 บาท และอีก 15,000 ต้องรอขาย K-FIXED ออกมาก่อน จึงจะทำการซื้อกองที่ตั้งใจซึ่งอยู่ต่าง บลจ. ได้ (ระบบของ Nomura ไม่สามารถสับเปลี่ยนกองข้าม บลจ. ได้ ต้องขายออกมาเป็นเงินสด แล้วค่อยสั่งซื้อเข้าไปใหม่)

ดังนั้น ผมจึงทำการสั่งซื้อและขายกองทุนดังรายการต่อไปนี้

06-trade-2017-01

รายการแรก สั่งซื้อ BTP เลยทันที 5,000 บาท โดยมี Trade Date เป็นวันที่ 2 ก.พ. ถือเป็นการซื้อโดยใช้เงินใหม่ที่เติมเข้ามาในเดือนนี้

รายการที่สอง สั่งขาย K-FIXED ยอด 15,000 บาท ระบบของ Nomura แสดงในว่าจะได้เงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ในวันที่ 6 ก.พ. (แสดงในคอลัมน์ Settle Date)

รายการที่สาม และ สี่ ผมสั่งซื้อ SCBUSSM ยอด 10,000 บาท และ UTSME ยอด 5,000 บาท โดยเป็นการทำรายการล่วงหน้า (Standing Order) ให้มีผล (Trade Date) เป็นวันที่ 6 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่รับเงินค่าขายจาก K-FIXED พอดี  นั่นคือพอเงินเข้าช่วงกลางวันปุ๊บ ช่วงเย็นเงินก็จะตัดไปลงทุนปั๊บ

ที่ผมทำแบบนี้เพราะพอร์ตนี้ตั้งใจจะไม่ดูมันใกล้ชิด จะดูและปรับซักเดือนละครั้งก็พอ ดังนั้นจึงขี้เกียจมาทำรายการหลายครั้ง เพราะถ้าต้องรอขาย K-FIXED ก่อน แล้วค่อยมาสั่งซื้อกองอื่นอาจจะลืมก็ได้ ก็สั่งมันล่วงหน้านี่ล่ะ ถือเป็นการประยุกต์การสับเปลี่ยนกองข้าม บลจ. ไปโดยปริยายครับ

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (ธ.ค. 59)

model-portfolio-dec-2016

Model Portfolio เดือน ธ.ค. 59

สวัสดีปีใหม่ 2560 ครับผม

เข้าสู่เดือนที่ 4 ของการลงทุนใน Model Port ของลูกสาวผม “เอเจ” แล้วนะครับ โดยธรรมเนียมก็ต้องมีการอัพเดตพัฒนาการของลูกสาว ซึ่งปัจจุบันอายุได้ 2 เดือนครึ่งแล้ว น้ำหนักตัวกำลังพุ่งทีเดียว

aj-dec2016

จากรูปเป็นแฟชั่นต้อนรับปีใหม่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “สลิ่มน้ำกะทิ” เริ่มจากหมวกขาว เสื้อเขียว กางเกงฟ้า และถุงเท้าชมพู ช่างน่ารักชวนให้มีกำลังใจในการบริหารจัดการพอร์ตให้เธอต่อไปอีกร่วม 18 ปีจริงๆ

 

ส่วนท่านที่เพิ่งเข้ามาอ่านเดือนนี้เป็นเดือนแรก ถ้างงๆ ว่าอยู่ดีๆ ก็พูดถึงพอร์ตลูกสาว แล้วจะลงทุนไปอีกตั้ง 18 ปี มันเป็นยังไงมายังไง ขอให้กลับไปตั้งหลักที่ โพสนี้ ก่อนนะครับ


สถานะพอร์ต ณ 30 ธ.ค. 59

ลำดับแรกดาวโหลดไฟล์ Excel ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน คลิ๊กที่นี่ ครับ

01-outstandin-dec-2016

มูลค่าพอร์ต ณ 30 ธ.ค. 59 อยู่ที่ 219,036.32 บาท โดยมูลค่านี้รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน ธ.ค. 59 อีก 5,000 บาทเข้าไปด้วยแล้ว (จะเห็นยอดเงินนั้นแสดงอยู่ในช่อง Cash คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.3% ของพอร์ต) ซึ่งในตอนท้ายเราก็ต้องตัดสินใจกันด้วยว่า เงินก้อนนี้จะลงทุนในกองทุนไหน

นอกจากนั้นยังมีเงินปันผลรับอีก 414.04 บาท จากกอง T-PropInfraFlex ซึ่งจ่ายมาระหว่างเดือน ธ.ค. 59 รวมแล้วทำให้เรามีเงินสดรอลงทุนในเดือนนี้เท่ากับ 5,000 + 414.04 = 5,414.04 บาท

สัดส่วนการลงทุนปัจจุบันก็แบ่งเป็น

  • เงินสด 2.5% / 0.0%
  • ตราสารหนี้ไทย 22.9% / 7.5%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 0.0% / 7.5%
  • อสังหาริมทรัพย์ 22.3% / 25.0%
  • หุ้นไทย 21.8% / 30.0%
  • หุ้นต่างประเทศ 22.6% / 20.0%
  • สินทรัพย์ทางเลือก 8.0% / 10.0%

ตัวเลขด้านหน้าคือน้ำหนักที่ลงทุนจริง ตัวเลขด้านหลังเครื่องหมาย “/” คือสัดส่วนตาม Strategic Asset Allocation (SAA) หรือแผนระยะยาว ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบัน Underweight หุ้นไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศอยู่ น้ำหนักการลงทุนจึงไปบวมที่ตราสารหนี้ไทย เพราะพักเงินไว้ที่นี่

ข้อสังเกต พอร์ตปัจจุบัน ยังไม่ได้ลงทุนเต็มความเสี่ยงที่ตั้งใจไว้ เพราะมีเงินรออยู่ในตราสารหนี้ไทยถึง 22.9% (ประมาณ 50,000 บาท)


ผลกำไร/ขาดทุน

02-profit-dec-2016

เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเดือนที่เงียบๆ เนื่องจากเป็นเดือนสุดท้ายของปี นักลงทุนทั่วโลกก็เริ่มพักผ่อนกัน พอร์ตก็พอจะมีกำไรนิดหน่อย คือ 271.95 บาท หรือ +0.13%

ส่วนถ้านับตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 ก็จะ ยังขาดทุนอยู่ 963.68 บาท หรือ -0.48% (อ่านค่าตรงบรรทัดสุดท้ายของตาราง) ซึ่งจะเห็นว่าก็ไม่ได้ผันผวนเยอะแยะมากมายอะไร สำหรับพอร์ตเสี่ยงกลางแบบนี้

ที่ตั้งใจอัพเดทพอร์ตให้เห็นทุกเดือน เพื่อที่จะให้ทุกท่านทราบด้วยว่า ในระหว่างเส้นทางการลงทุน เราจะได้เจอประสบการณ์แบบไหนบ้าง เพราะยังมีหลายคนเชื่อว่า จัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงแล้ว มันไม่น่าจะขาดทุน ก็ต้องบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีการขาดทุนในระยะสั้น เพราะมันจะมีแน่นอน แต่การกระจายความเสี่ยงมันช่วยให้ขาดทุนไม่มากเกินไป เพื่อให้เรามีกำลังใจถือลงทุนได้ต่อเนื่อง จนได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวต่างหาก (อยากให้อ่าน บทความนี้ เพิ่มเติมเรื่องการกระจายความเสี่ยงนะครับ)

นอกจากผลกำไรขาดทุนที่ตารางนี้พยายามบอกกับเราแล้ว มันยังบอกด้วยว่า พอร์ตเราโตขึ้นจาก 2 แสนเมื่อเริ่มลงทุน เป็นประมาณ 2.2 แสนแล้วนะครับ เพราะต้องอย่าลืมด้วยว่าในแผนการลงทุนนี้ เราไม่ได้อาศัยเพียงผลตอบแทนในการทำให้เงินโต แต่เราอาศัยวินัยจากการออมเพิ่มด้วย ตามคาดการณ์ในตารางนี้

07


ผลการดำเนินงานที่ทำได้นั้นดีแค่ไหน (Benchmarking)

ในที่นี่ก็ต้องเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ที่เหมาะสมสักชุด ซึ่งกำหนดไว้แล้วใน Investment Policy Statement (IPS) คือ

  • ThaiBMA 1-3Y Gov. Bond Index – 15%
  • M-PROPERTY – 25%
  • SET TRI – 30%
  • S&P500 TRI – 20%
  • LBMA Gold AM – 10%

โดย Weight ที่ให้กับ Index แต่ละตัว ก็สะท้อนมาจากแผน SAA เพราะเราอยากจะรู้ว่าหากวัดเทียบกับพอร์ต SAA ที่ไม่ปรับสัดส่วน Overweight/Underweight อะไรเลยระหว่างทาง เราทำได้ดีแค่ไหน

03-benchmarking-dec-2016

ซึ่งผลลัพธ์ของเดือนนี้ แม้จะมีกำไร +0.13% แต่ก็ถือว่าไม่ค่อยดี เพราะ Benchmark ของพอร์ต +0.22% ถือว่าแพ้ให้ Benchmark อยู่ 0.09% 

อย่างไรก็ตามเมื่อวัดตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 จะเห็นว่าพอร์ตได้ผลตอบแทน -0.49% ขณะที่ Benchmark ได้ -1.10% ก็ยังชนะนิดๆ คือมี Alpha = +0.61% นั่นคือวัดแบบ Absolute ก็ถือว่าขาดทุน แต่วัดแบบ Relative ก็ยังถือว่าใช้ได้ เพราะมันแปลว่า Active Decision ของเรา Create Value ให้กับพอร์ต (ในกรณีนี้คือขาดทุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น)


วิเคราะห์องค์ประกอบผลตอบแทน (Performance Attribution)

เช่นเคย สิ่งที่เราอยากรู้ก็คือ แล้วเราแพ้หรือชนะเพราะอะไร จะได้นำข้อมูลนั้นไปปรับปรุงพอร์ตต่อไป ซึ่งเดือนนี้ก็วิเคราะห์ออกมาได้ดังนี้

04-attribution-dec-2016

ตารางนี้ก็เป็นตารางที่อธิบายด้วยการพิมพ์ค่อนยาก ดังนั้นอยากให้ลองกลับไปดู วีดีโอที่ผมพาอ่านตารางนี้ตอนเดือน ก.ย. ดู จะเข้าใจมากขึ้นนะครับ

ระดับแรก ลองดูภาพใหญ่เรื่องของการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ก่อน ลองดูที่ตาราง Benchmark ด้านขวานะครับ

เริ่มจากสินทรัพย์ที่เป็นบวกก่อน เดือนนี้หุ้นไทย (แทนด้วย SET TRI) และหุ้นต่างประเทศ (แทนด้วย S&P500 TRI) ให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งคู่ ซึ่งหากดูในสัดส่วนสินทรัพย์ตาม Benchmark แล้ว เราควรจะมีหุ้นไทย 30% แต่ผมลงทุนจริงแค่ 20% ก็ถือว่าผิด ส่วนหุ้นต่างประเทศ เราควรจะมี 20% ซึ่งผมลงทุนจริงไป 20% เท่ากับ BM แล้ว ก็ไม่ถือว่าผิดอะไร (มาจาก TMBAGLF + ABAGS + SCBUSSM + CIMB GIF)

ส่วนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบ หลักๆ คืออสังหา และ ทองคำนั้น ผมตัดสินใจลงทุนพอๆ กับน้ำหนักตามแผนระยะยาว (Neutral Weight) ดังนั้น ก็จะขาดทุนพอๆ กับ Benchmark ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดอะไร ถ้าผิดคือผมดันไป Overweight พวกมัน

ระดับที่สอง คือเรื่องของการเลือกกอง (Fund Selection) ก็ให้ลัดไปดูที่คอลัมน์ขวาสุดที่เขียนว่า Alpha ทีละบรรทัด ซึ่งก็คือการเอาผลตอบแทนของกองทุน ลบกับ Benchmark ของมัน จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • K-FIXED พอๆ กับ Benchmark
  • T-PropInfraFlex ดีกว่า Benchmark
  • BTP แย่กว่า Benchmark
  • UTSME แย่กว่า Benchmark
  • TMBAGLF แย่กว่า Benchmark แบบกลับทิศกลับทาง
    เพราะ Benchmark เป็นหุ้นสหรัฐ แต่กองนี้เป็นหุ้นเอเชีย
    เท่ากับว่าผมเลือก Region ผิด
  • ABAGS ดีกว่า Benchmark มาก
  • SCBUSSM (ซึ่งเพิ่มเข้ามาเดือนที่แล้ว) ดีกว่า Benchmark มาก
  • CIMB-PRINCIPAL GIF (ซึ่งแผ่วมาหลายเดือน) เดือนนี้พุ่งเลย และดีกว่า Benchmark มาก
  • TMBGOLDS พอๆ กับ Benchmark (เพราะมันเป็น Index Fund)

ผมขอสรุปผลการวิเคราะห์ที่มาของผลตอบแทนโดยรวมๆ จากการวิเคราะห์ทั้งสองระดับ ดังนี้

  • จุดพลาดใหญ่ๆ คือผมดัน Underweight หุ้นไทยในเดือนที่หุ้นไทยดี และดันแบ่งไปลงทุนหุ้นประเทศอื่นนอกจากสหรัฐฯ ในเดือนที่หุ้นสหรัฐฯดี (ในที่นี้คือผมเลือกลงทุนใน TMBAGLF ซึ่งเป็นหุ้นโซนเอเชีย แทนที่จะแค่ลงทุนตาม Benchmark คือดัชนี S&P 500 อย่างไรก็ตาม ผมยังอยากดูต่อไปอีกสักพักก่อนยังไม่ปรับเปลี่ยนอะไร เพราะคิดว่า Valuation ของหุ้นเอเชียที่ TMBAGLF ลงทุนยังน่าสนใจ)
  • กองทุนหุ้นไทยที่เลือก คือ BTP และ UTSME ซึ่งชนะ Benchmark ได้ดีมาตลอดหลายเดือน เดือนนี้ก็แผ่วนิดหน่อย
  • ส่วนกองหุ้นต่างประเทศ ที่ลงทุนในฝั่งสหรัฐฯ และประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น ABAGS, SCBUSSM, CIMB-PRINCIPAL GIF ทั้ง 3 กองทำผลตอบแทนได้น่าประทับใจมาก
  • ทองคำ ซึ่งผมแบ่งเงินไปเพื่อกระจายความเสี่ยง ก็ยังคงลบต่อเนื่องมา 3 เดือนติดแล้ว แต่เนื่องจากวัตถุประสงค์คือเพื่อลดความเสี่ยงเวลาที่มีวิกฤติ (ซึ่งทองมักจะมีกำไรในช่วงแบบนั้น) ผมก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับมัน ก็มีถ่วงพอร์ตไว้แบบนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนว่า ผลการวิเคราะห์ข้างต้นนั้น เป็นของเดือนนี้เท่านั้น ควรกลับไปอ่านของเดือนก่อนๆ ดูด้วย จะเห็นพัฒนาการ

ในความเป็นจริง ผมไม่ได้ให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์รายเดือน แล้วปรับพอร์ตตามมันขนาดนั้น แต่ก็ติดตามแนวโน้มไปเรื่อยๆ ถ้าเห็นอะไรที่ห่วยชัดเจนต่อเนื่อง ก็ค่อยตัดสินใจปรับ อย่าลืมว่าทุกกองที่ลงไป ก่อนลงเราก็คัดสรรมาอย่างดีแล้ว และให้น้ำหนักกับระยะยาว ดังนั้นการที่มันพลาดไม่กี่เดือน คงไม่ใช่เหตุผลที่จะเอาออก


เรียนรู้ภาพใหญ่ 4 เดือนที่ผ่านมาจาก Benchmark

05-benchmark-monthly-dec-2016

จากตารางข้างต้น อ่านที่บรรทัดสุดท้าย จะพบว่าสินทรัพย์ต่างๆ ให้ผลตอบแทน 4 เดือน (ก.ย. – ธ.ค. 59) ดังนี้

  • ตราสารหนี้ไทย +0.29%
  • กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทย -3.41%
  • หุ้นไทย +0.10%
  • หุ้นสหรัฐฯ +4.32%
  • ทองคำ -11.82%

ถ้าเรารู้ล่วงหน้า เราคงไม่ต้องกระจายความเสี่ยงแล้ว

  • แค่ทุ่มลงในหุ้นสหรัฐฯ ทั้งหมดก็จะได้กำไรสูงสุด แต่มันไม่รู้นี่สิ ตอนนั้นยังไม่เห็นมีใครพูดเลยว่าหุ้นเมกาจะมา มีแต่บอกว่าแพง มันก็เพิ่งมาขึ้นมากๆ เอาช่วงที่ Trump ชนะเลือกตั้ง (ซึ่งก็หักปากกาเซียนอีก)
  • หรือถ้าใครเลือกลงทุนตามผลตอบแทนย้อนหลังเป็นหลัก จะพบว่า ช่วงต้นปี กองทุนอสังหาฯ และทองคำ ให้ผลตอบแทนดีมาก ใครทุ่มลง 2 Assets นี้ ครึ่งปีหลังก็จะขาดทุน (ซวยเลย)
  • ส่วนถ้าใครกลัวความเสี่ยง แช่เงินไว้ในตราสารหนี้ไทยอย่างเดียว ก็ได้มาประมาณ 0.29% ต่อ 4 เดือน หรือคิดเป็น 0.87% ต่อปี มากกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์นิดหน่อย

การพยายามจะเก็งว่า Asset ไหนจะวิ่ง มันยากตรงนี้แหละครับ

ส่วนการจัดพอร์ต Asset Allocation ก็เป็นสายกลางๆ จากตารางด้านบนจะเห็นว่า เมื่อนำ 5 สินทรัพย์นั้น มาประกอบกันเป็น Benchmark Port ในสัดส่วน 15:25:30:20:10 แล้ว 4 เดือนที่ผ่านมาก็จะขาดทุน -1.10%

คือไม่ขาดทุนหนักเท่าทองและอสังหาฯ แต่ก็ไม่ได้กำไรเหมือนหุ้นไทย และหุ้นสหรัฐฯ มันจะอยู่กลางๆ ระยะยาวถ้าผลตอบแทนของสินทรัพย์ทั้งหมดนี้ปรับขึ้น พอร์ตแบบ Asset Allocation ก็จะได้แถวกลางๆ

แต่สังเกตที่ผลตอบแทนรายเดือนของ Benchmark Port นะครับ จะเห็นว่าแทบไม่มีเดือนไหนที่ +/- เกิน 1% เลย ขณะที่คนที่ถือทองล้วน หุ้นล้วน อสังหาล้วน จะเหวี่ยงแรงกว่านั้น (บางเดือนบวกลบกัน 4-5%)

ซึ่งผมได้สอนไปในสัมมนา DIY Portfolio ประเด็นเรื่อง Path-Dependent แล้วว่า แม้ทรัพย์บางอย่างผลตอบแทนเมื่อถือยาวจะดี แต่ระหว่างทางถ้ามันเหวี่ยงมากไป บางคนก็ทนไม่ไหว เลิกล้มความตั้งใจไปก่อน สุดท้ายผลตอบแทนยาวๆ ที่ดีๆ ก็มีคนได้น้อยมาก เพราะถูกเหวี่ยงหลุดไปกลางทางแล้ว ซึ่งจากข้อมูล 4 เดือนมานี้ การจัดพอร์ตก็ช่วยลดความผันผวนระหว่างทางได้จริง

ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ก็จะพบว่า เขาไม่จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงก็ได้ ทุ่มลงทุนในทรัพย์ที่มั่นใจที่สุดเลยก็ได้ ดังนั้น วิธีการลงทุนแบบ Global Diversification นี้ใช่ว่าจะเหมาะกับคนทุกคน ต้องเลือกเอานะครับ ว่าเราต้องการแบบไหน


แล้วจะปรับพอร์ตยังไง

เดือนนี้ผมตัดสินใจว่าจะยังไม่แตะ “กระสุน” ที่พักรอไว้ใน K-FIXED ร่วม 50,000 บาท แต่จะลงทุนเฉพาะส่วนของเงินสดที่มีอยู่ 5,414.04 บาท

โดยจะเติมเข้าไปในหุ้นสหรัฐฯ อีก โดยใช้กอง SCBUSSM เช่นเดียวกับ เดือนที่แล้ว เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุนขั้นต่ำของกอง ABAGS (ซึ่งผมชอบมากกว่า SCBUSSM)

ส่วนเหตุผลที่เลือกหุ้นสหรัฐฯ นั้นก็เพราะมุมมองด้าน Trend Following เป็นหลัก เพราะหากพิจารณาแนวโน้มราคาหุ้นต่างประเทศในตลาดหลักๆ แล้ว ณ ปัจจุบันก็มีแค่หุ้นสหรัฐฯ ที่ยังคงเป็นขาขึ้นอยู่อย่างชัดเจน

chart-sp500

จากรูปเป็นกราฟ Week จากเว็บ Investing.com โดยผมใช้เกณฑ์ตามที่สอนไปในหลักสูตร DIY Portfolio เพื่อพิจารณาแนวโน้มภาพใหญ่ว่าเป็นทิศทางไหน โดยจากดัชนี S&P500 ณ ปัจจุบัน

  • ราคาหุ้นอยู่เหนือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 20 สัปดาห์ (MA 20-Week) หรือ 100 วัน สะท้อนขาขึ้นระยะกลาง
  • ราคาหุ้นอยู่เหนือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 40 สัปดาห์ (MA 40-Week) หรือ 200 วัน สะท้อนขาขึ้นระยะยาว
  • ราคาหุ้นอยู่ในกรอบ Trend Channel ขาขึ้น (สีเหลือง)

ส่วนราคาหุ้นอื่นๆ รวมทั้งราคาทองคำ อยู่ในแนวโน้มที่ไม่เป็นขาลงก็ Sideway จึงยังไม่ใช่เป้าหมายในการลงทุนเพิ่มของผมตอนนี้

ดังนั้น ผมจึงสั่งซื้อกองทุน SCBUSSM ยอด 5,414.04 บาท โดยสั่ง ณ วันที่ 2 ม.ค. 60 ซึ่งเป็นวันหยุด กว่ารายการจะเกิดจริงก็คือวันที่ 4 ม.ค. 60 ตามสถานะคำสั่งจากระบบของ Nomura ดังรูป

order-status-dec-2016

แล้วเดือนต่อไปเรามาตามดูกันครับ ว่าพอร์ตจะมีกำไรมั๊ย แล้วเอเจจะจ้ำม่ำขึ้นขนาดไหน ^__^

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (พ.ย. 59)

model-portfolio-nov-2016

Model Portfolio เดือน พ.ย. 59

ก่อนจะไปอัพเดทความเป็นไปของ Model Port ในเดือนนี้ เรามาอัพเดทความเป็นไปของเจ้าของพอร์ตตัวจริงกันนิดหน่อย ด้วยรูปทะเล้นๆ ของ “เอเจ” ลูกสาวผมนะคร้าบ 1 เดือนผ่านไป เธอมีพัฒนาการทาง “แก้ม” มากทีเดียว

aj-16-shots

aj-with-daddy

รูปที่สองนี่มีกด Like และขยิบตาด้วยนะลูกเอ้ย

เบื้องหน้าดูน่ารัก ใสๆ เบื้องหลังนี่โวยวายสุดๆ ทำให้เดือนนี้ยังไม่สะดวกจะอัดวีดีโออัพเดทพอร์ตเหมือนที่ทำไปตอน เดือน ก.ย. 59 นะครับ คงต้องใช้วิธีเขียนอธิบายเหมือน เดือน ต.ค. 59 ไปก่อน

และเนื่องจากช่วงหลังมีผู้อ่านใหม่ๆ เข้ามาอ่านเยอะ จะต้องขออธิบายก่อนว่า Model Port นี้ ผมทำขึ้นเพื่อผู้เรียนหลักสูตร DIY Portfolio โดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นช่องทางในการศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่องจนทำได้เอง ซึ่งก็จะอ้างอิงถึงหลักการตัดสินใจและเครื่องมือต่างๆ ที่เรียนในคอร์ส บางอย่างก็ไม่ได้มีสอนในเว็บ A-Academy

ดังนั้น ถ้าอ่านแล้วมึนๆ เบลอๆ บ้าง คงต้องพยายามทำความเข้าใจด้วยตัวเองไปก่อนนะครับ ใครสนใจอยากเรียน ก็ขอเชิญชวนมาเรียนรุ่น 2 ซึ่งคาดว่าจะจัดช่วง ก.พ. – มี.ค. 60  แต่อย่างน้อย ขอให้ไปตั้งหลักที่ โพสนี้ ก่อนครับ จะได้รู้ว่าพอร์ตนี้จัดขึ้นทำไม อย่างไร แล้วเกี่ยวอะไรกับลูกสาวผม


สถานะพอร์ต ณ 30 พ.ย. 59

ลำดับแรกดาวโหลดไฟล์ Excel ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน คลิ๊กที่นี่ ครับ

01-outstandin-nov-2016

มูลค่าพอร์ต ณ 30 พ.ย. 59 อยู่ที่ 213,764.37 บาท โดยมูลค่านี้รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน พ.ย. 59 อีก 5,000 บาทเข้าไปด้วยแล้ว (จะเห็นยอดเงินนั้นแสดงอยู่ในช่อง Cash คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.3% ของพอร์ต) ซึ่งในตอนท้ายเราก็ต้องตัดสินใจกันด้วยว่า เงินก้อนนี้จะลงทุนในกองทุนไหน

สัดส่วนการลงทุนปัจจุบันก็แบ่งเป็น

  • เงินสด 2.3% / 0.0%
  • ตราสารหนี้ไทย 23.4% / 7.5%
  • ตราสารหนี้ต่างประเทศ 0.0% / 7.5%
  • อสังหาริมทรัพย์ 23.4% / 25.0%
  • หุ้นไทย 22.0% / 30.0%
  • หุ้นต่างประเทศ 20.4% / 20.0%
  • สินทรัพย์ทางเลือก 8.4% / 10.0%

ตัวเลขด้านหน้าคือน้ำหนักที่ลงทุนจริง ตัวเลขด้านหลังเครื่องหมาย “/” คือสัดส่วนตาม Strategic Asset Allocation (SAA) หรือแผนระยะยาว ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบัน Underweight หุ้นไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศอยู่ น้ำหนักการลงทุนจึงไปบวมที่ตราสารหนี้ไทย เพราะพักเงินไว้ที่นี่

และถ้าใครย้อนกลับไปอ่านสรุปพอร์ต เดือน ต.ค. 59 ก็จะเห็นว่าสัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ที่เห็นเด่นๆ คือ หุ้นไทยเพิ่มขึ้น (เพราะเดือนนี้กองหุ้นที่เลือกขึ้นค่อนข้างเยอะ) และ สินทรัพย์ทางเลือกลดลง (เพราะกองทุนทองคำที่ถือปรับลงเยอะ)


ผลกำไร/ขาดทุน

02-profit-nov-2016

ท่ามกลางความผันผวนอย่างรุนแรงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนนี้ พอร์ตเอเจก็เพลี่ยงพล้ำตามไปด้วย แต่ก็ถือว่าไม่มาก คือ ขาดทุนไป 519.01 บาท หรือ -0.25% 

ส่วนถ้านับตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 ก็จะขาดทุนไป 1,235.63 บาท หรือ -0.62% เรียกว่า 3 เดือนผ่านไปยังไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน (แต่อย่าลืมว่าพอร์ตนี้จะลงทุนกันต่ออีก 18 ปี นะครับ)

การวัดแบบนี้คือการวัดแบบสัมบูรณ์ (Absolute Measurement) คือยังไม่ได้เปรียบเทียบ (Relative Measurement) กับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ที่เสี่ยงใกล้เคียงกัน ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป


ผลการดำเนินงานที่ทำได้นั้นดีแค่ไหน (Benchmarking)

ในที่นี่ก็ต้องเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ที่เหมาะสมสักชุด ซึ่งกำหนดไว้แล้วใน Investment Policy Statement (IPS) คือ

  • ThaiBMA 1-3Y Gov. Bond Index – 15%
  • M-PROPERTY – 25%
  • SET TRI – 30%
  • S&P500 TRI – 20%
  • LBMA Gold AM – 10%

โดย Weight ที่ให้กับ Index แต่ละตัว ก็สะท้อนมาจากแผน SAA เพราะเราอยากจะรู้ว่าหากวัดเทียบกับพอร์ต SAA ที่ไม่ปรับสัดส่วน Overweight/Underweight อะไรเลยระหว่างทาง เราทำได้ดีแค่ไหน

03-benchmarking-nov-2016

ซึ่งผลลัพธ์ของเดือนนี้ก็ถือว่าเฟล เพราะพอร์ตติดลบ -0.25% ในขณะที่ Benchmark ของพอร์ต +0.12% ถือว่าแพ้ให้ Benchmark ถึง -0.37% จะเห็นว่าผลงานเดือนนี้สวนทางกับ 2 เดือนก่อน เพราะเดือน ก.ย. และ ต.ค. นั้น พอร์ตชนะ Benchmark ทั้ง 2 เดือน

อย่างไรก็ตามเมื่อวัดตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน (Since Inception) เมื่อ 31 ส.ค. 59 จะเห็นว่าพอร์ตได้ผลตอบแทน -0.61% ขณะที่ Benchmark ได้ -1.31% ก็ยังชนะนิดๆ คือมี Alpha = +0.70% นั่นคือวัดแบบ Absolute ก็ถือว่าขาดทุน แต่วัดแบบ Relative ก็ยังพอไปวัดไปวาได้ เพราะต้องอย่าลืมว่าพอร์ตจริงเรามีค่าธรรมเนียมต่างๆ ด้วย แต่ Benchmark ไม่มี ดังนั้นการที่ Net ค่าธรรมเนียมแล้วยังชนะ ก็ควรได้รับความเห็นใจบ้าง… น๊า

ตรงนี้แหละ สมัยผมทำงานลูกค้าบางท่านก็ไม่เข้าใจ เพราะจะเอา Absolute ให้เป็นบวกตลอด แต่สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมันยากจริงๆ ที่เราจะบวกได้ทุกเดือน หรือทุกปี ดังนั้น ก็อยากให้ลองมอง Relative เทียบกับ Benchmark ดูด้วยครับ เพราะถ้าระยะสั้นเราชนะ Benchmark ได้ ในระยะยาวถ้า Benchmark ได้กำไรเท่าไร ก็มีโอกาสที่เราจะได้กำไรมากกว่านั้นด้วย


วิเคราะห์องค์ประกอบผลตอบแทน (Performance Attribution)

เช่นเคย สิ่งที่เราอยากรู้ก็คือ แล้วเราแพ้หรือชนะเพราะอะไร จะได้นำข้อมูลนั้นไปปรับปรุงพอร์ตต่อไป ซึ่งเดือนนี้ก็วิเคราะห์ออกมาได้ดังนี้

04-attribution-nov-2016

ตารางนี้ก็เป็นตารางที่อธิบายด้วยการพิมพ์ยากเสมอ ดังนั้นอยากให้ลองกลับไปดู วีดีโอที่ผมพาอ่านตารางนี้ตอนเดือน ก.ย. ดู จะเข้าใจมากขึ้นนะครับ

ระดับแรก ลองดูภาพใหญ่เรื่องของการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ก่อน ลองดูที่ตาราง Benchmark ด้านขวานะครับ

เริ่มจากสินทรัพย์ที่เป็นบวกก่อน เดือนนี้หุ้นไทย (แทนด้วย SET TRI) และหุ้นต่างประเทศ (แทนด้วย S&P500 TRI) ให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งคู่ ซึ่งหากดูในสัดส่วนสินทรัพย์ตาม Benchmark แล้ว เราควรจะมีหุ้นไทย 30% แต่ผมลงทุนจริงแค่ 20% ก็ถือว่าผิด ส่วนหุ้นต่างประเทศ เราควรจะมี 20% ซึ่งผมลงทุนจริงไป 20% เท่ากับ BM แล้ว ก็ไม่ถือว่าผิดอะไร

ส่วนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบ หลักๆ คืออสังหา และ ทองคำนั้น ผมตัดสินใจลงทุนเท่ากับน้ำหนักตามแผนระยะยาว (Neutral Weight) ดังนั้น ก็จะขาดทุนพอๆ กับ Benchmark ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดอะไร ถ้าผิดคือผมดันไป Overweight พวกมัน

ระดับที่สอง คือเรื่องของการเลือกกอง (Fund Selection) ก็ให้ลัดไปดูที่คอลัมน์ขวาสุดที่เขียนว่า Alpha ทีละบรรทัด ซึ่งก็คือการเอาผลตอบแทนของกองทุน ลบกับ Benchmark ของมัน จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

  • K-FIXED แย่กว่า Benchmark (แต่มีนัยยะน้อยมากต่อพอร์ต)
  • T-PropInfraFlex แย่กว่า Benchmark (แต่มีนัยยะน้อยมากต่อพอร์ต)
  • BTP ดีกว่า Benchmark
  • UTSME ดีกว่า Benchmark
  • TMBAGLF แย่กว่า Benchmark แบบกลับทิศกลับทาง
    เพราะ Benchmark เป็นหุ้นสหรัฐ แต่กองนี้เป็นหุ้นเอเชีย
    เท่ากับว่าผมเลือก Region ผิด
  • ABAGS ดีกว่า Benchmark มากๆๆ เพราะ S&P500 TRI ขึ้น 3.95% แต่กองนี้บวกไป 12.19% ชนะกัน 3 เท่าตัวทีเดียว
  • CIMB-PRINCIPAL GIF แย่กว่า Benchmark คือแม้จะกำไร แต่ก็กำไรน้อยกว่า S&P500 TRI
  • TMBGOLDS พอๆ กับ Benchmark (เพราะมันเป็น Index Fund)

จะเห็นว่าการเซ็ท Benchmark ของกองทุนหุ้นต่างประเทศของผม เน้นแข่งกับ S&P500 TRI เท่านั้น เพราะมองว่าบริษัทใน S&P500 เป็น Global Company มีรายได้จากทั่วโลกในสัดส่วนที่สูง ซึ่งถ้าผมไม่อยากแพ้ Benchmark ตัวนี้ ผมก็แค่ลงทุนในกองทุน Index Fund ที่เลียนแบบดัชนี S&P500 ซะก็จบ แต่นี่เพราะผม “อินดี้” เอง เชื่อว่าตัวเองสามารถเลือกหุ้นประเทศอื่นที่ชนะดัชนีตัวนี้ได้ ผลคือเดือนนี้แพ้

ผมขอสรุปผลการวิเคราะห์ที่มาของผลตอบแทนโดยรวมๆ จากการวิเคราะห์ทั้งสองระดับ ดังนี้

  • จุดพลาดใหญ่ๆ คือผมดัน Underweight หุ้นไทยในเดือนที่หุ้นไทยดี และดันแบ่งไปลงทุนหุ้นประเทศอื่นนอกจากสหรัฐฯ ในเดือนที่หุ้นสหรัฐฯดีโคตรๆ (บวก 3.95% ในเดือนเดียว ถือว่าดีผิดปกติมาก)
  • กองที่ผมคิดว่าเลือกได้ดีในเดือนก่อนๆ คือ BTP และ UTSME เดือนนี้ก็ยังดีต่อเนื่อง (คือชนะ SET TRI) และเดือนนี้เรายังได้เห็นดาวเด่นที่ช่วยพอร์ตอย่าง ABAGS ซึ่งบวกชนะ S&P500 TRI แบบถล่มทลาย (ABAGS เป็นหุ้นเล็ก ส่วน S&P500 เป็นหุ้นใหญ่) ซึ่งถ้าใครได้เรียนในคอร์ส DIY Portfolio ผมได้อธิบายแล้วว่าทำไมผมถึงชอบกองหุ้นเล็กมากกว่า โดยเฉพาะถ้าจะลงทุนยาวๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนว่า ผลการวิเคราะห์ข้างต้นนั้น เป็นของเดือนนี้เท่านั้น ควรกลับไปอ่านของเดือนก่อนๆ ดูด้วย จะเห็นพัฒนาการ และความดีต่อเนื่องหรือเลวต่อเนื่อง หรือสลับไปๆ มาๆ

ในความเป็นจริง ผมไม่ได้ให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์รายเดือน แล้วปรับพอร์ตตามมันขนาดนั้น แต่ก็ติดตามแนวโน้มไปเรื่อยๆ ถ้าเห็นอะไรที่ห่วยชัดเจนต่อเนื่อง ก็ค่อยตัดสินใจปรับ อย่าลืมว่าทุกกองที่ลงไป ก่อนลงเราก็คัดสรรมาอย่างดีแล้ว และให้น้ำหนักกับระยะยาว ดังนั้นการที่มันพลาดไม่กี่เดือน คงไม่ใช่เหตุผลที่จะเอาออก


แล้วจะปรับพอร์ตยังไง

พอร์ตเดิมที่ลงไว้ ผมยังคงน้ำหนักเหมือนเดิมไปก่อน คือโดยรวมก็ยัง Underweight หุ้น แล้วพักเงินไว้ในตราสารหนี้ ส่วนหุ้นที่ Underweight ก็ยังเป็นหุ้นไทย (แผน SAA กำหนดว่าจะลงทุน 30% ปัจจุบันลงทุน 20%) ทั้งที่ลึกๆ ผมก็คิดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่มันยังแอบห่วงนิดๆ ว่าจะมีอะไรซ่อนอยู่อีก พอร์ตของลูกก็อยากจะตั้งการ์ดหนาเอาไว้ก่อน คือมีสินทรัพย์ปลอดภัยติดมือไว้มากพอสมควร (แผน SAA 15% ปัจจุบัน 25%)

เอาเป็นว่าถ้าดูไปอีกซักระยะ แล้วมันขึ้นไปก็จะไม่เสียดาย แต่ถ้าลงมาก็มีเงินให้เก็บของอยู่ กองที่จะเก็บก็คงเป็นกองเดิมๆ (BTP & UTSME) หรืออาจจะเก็บเป็นหุ้น ASEAN แทนเลยก็ได้ ตอนนี้ก็มีตามๆ ดูกอง B-ASEAN อยู่ครับ

แต่สิ่งที่ต้องตัดสินใจแน่นอนคือเงินใหม่ 5,000 บาทเดือนนี้ ว่าจะลงทุนอะไรดี ซึ่งผมตัดสินใจนำไปซื้อกองทุนชื่อ SCBUSSM หรือ SCB US Small Cap Equity Fund ซึ่งมีกองทุนหลัก (Master Fund) คือ Dimensional Funds PLC – US Small Companies Fund 

ด้วยเหตุผลว่าหลังผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ออกมา Flow ของเงินไหลกลับค่อนข้างมาก และ (เดาเอาว่า) อาจจะต่อเนื่อง เงินกลับไปคงยังไม่กล้าไปซื้อตราสารหนี้แน่ๆ เพราะถ้าเร็วๆ นี้ดอกเบี้ยขึ้น คนซื้อตราสารหนี้จะเจ็บตัว ดังนั้นหุ้นสหรัฐฯ ก็น่าจะเป็นปลายทางที่น่าสนใจกว่า อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจภาพใหญ่ๆ ก็ถือว่าดี (ถ้าไม่ดี FED คงไม่ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ย) ซึ่งผมก็เดาไม่ออกหรอกครับว่าเค้าจะขึ้นเมื่อไร มือไม่ถึงจริงๆ ในการวิเคราะห์ แค่เชื่อว่าตอนนี้อยู่ในระดับต่ำมากๆ ไม่ช้าก็เร็ว คงต้องขึ้น

และด้วยความที่มี Bias ชอบหุ้นเล็ก ก็อยากจะซื้อ ABAGS เพิ่ม แต่อนิจจาเงินไม่พอ เพราะกองนี้ต้องซื้อขั้นต่ำ 10,000 บาท ขณะที่เรามีแค่ 5,000 ครั้นจะรออีกเดือนเพื่อให้เงินครบหมื่น ก็กลัวมันวิ่งไปก่อน ก็เลยเอากอง SCBUSSM นี่แหละมาแทน เพราะลงทุนขั้นต่ำ 5,000 พอให้คนเบี้ยน้อยหอยน้อยได้ซื้อได้

กอง SCBUSSM นี่ค่อนข้างใหม่ เพิ่งเริ่มกองเมื่อ 31 พ.ค. 59 ที่ผ่านมา ส่วนกองแม่ก็หาข้อมูลยากเหลือเกิน ก็ได้แค่พล๊อตกราฟฟรีในเว็บ Bloomberg ซึ่งพล๊อตได้แค่ 1 ปี กับ 5 ปีย้อนหลัง เทียบกับกองอื่นๆ มาให้ดู ดังนี้

  • กองแม่ของ SCBUSSM คือเส้นสีส้มนะครับ
  • ส่วนสีเขียวคือกองแม่ของ ABAGS
  • สีแดง (IWM:US) คือกองทุนดัชนีเลียนแบบดัชนี Russell 2000 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นเล็กของสหรัฐฯ
  • สีน้ำเงิน (IVV:US) คือกองทุนดัชนีเลียนแบบดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นใหญ่สหรัฐฯ

1y-comparison-us-funds

ย้อนหลัง 1 ปีกองแม่ของ SCBUSSM ได้พอๆ กับ ABAGS แต่เหมือนเพิ่งจะดีดขึ้นมาเยอะๆ ก็หลังเลือกตั้งนี่เอง แต่ยังไงเสียก็ชนะทั้ง S&P500 และ Russell 2000

5y-comparison-us-funds

ย้อนหลัง 5 ปี เส้นสีเขียวหายไป เพราะกองแม่ของ ABAGS ยังไม่ตั้ง ก็ได้แต่เทียบกับ S&P 500 และ Russell 2000 จะเห็นว่ากองแม่ของ SCBUSSM นี้ก็ชนะอยู่

ขอยืมเนื้อเพลงพี่ป้างว่า “พอดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์” มาเป็นบทสรุปในการเลือกกองแล้วกันนะครับ ว่าแล้วก็สั่งซื้อไปซะ สั่งกลางคืนวันที่ 1 ธ.ค. ก็จะมีผลเป็นการซื้อวันที่ 2 ธ.ค.

transaction-summary-nov-2016

ไว้สิ้นเดือนมาติดตามกันต่อครับ ว่าพอร์ตจะเป็นยังไงต่อไป