สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (พ.ย. 61)

model-portfolio-2018-11

Model Portfolio เดือน พ.ย. 61 

กลับมาพบกับสรุป Model Portfolio ประจำเดือน พ.ย. 61 นะครับ

พอร์ตสาธิตนี้จัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์คือ

  1. เป็นพอร์ตสำหรับการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
    ของผู้เข้าสัมมนา DIY Portfolio กับ A-Academy
    (ดังนั้นถ้าบางท่านอ่านไม่รู้เรื่อง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเนื้อหาเหล่านี้
    ผมสอนไว้ในหลักสูตร DIY ซึ่งไม่ได้มีวิดีโอให้ดูใน YouTube นะครับ)
  2. เป็นพอร์ตที่ตั้งใจจะสาธิตการตัดสินใจลงทุนแบบ Active ในหลายๆ มิติ เช่น Tactical Asset Allocation และ Fund Selection โดยพร้อมรับความเสี่ยงกรณีที่มีการตัดสินใจผิดพลาด (พอร์ตหลักอื่นๆ ของผม ไม่ได้ตัดสินใจ Active ลักษณะเดียวกันกับพอร์ตนี้)
  3. เป็นพอร์ตการลงทุนจริงของลูกสาวผม
    สำหรับเป็นทุนการศึกษาในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า
    ตามแผนที่เขียนไว้ใน หน้านี้

ก่อนอื่น ทุกท่านสามารถดาวโหลดไฟล์สรุปพอร์ตในรูปแบบ Excel ของเดือนนี้ ไปศึกษาอย่างละเอียดโดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ


สถานะพอร์ต ณ 30 พ.ย 61

01-outstanding

02-performance

  • เดือนนี้พอร์ตมีมูลค่า 341,295.90 บาท
    (รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน 5,000 บาทแล้ว)
  • เดือน พ.ย. 61 กำไร เท่ากับ 2,527.48  บาท หรือ +0.76%
    ฟื้นตัวจากเดือนที่แล้วที่ขาดทุนหนักเล็กน้อย
  • ผลตอบแทนสะสมปี 2561 (11 เดือน) ขาดทุนอยู่  -5.53%

03-benchmark

  • วัดผลเทียบ Benchmark เดือน พ.ย. 61
    พอร์ต +0.76% vs BM +0.22% ชนะ Benchmark อยู่ +0.53%
  • วัดผลเทียบ Benchmark  ตั้งแต่เริ่มลงทุน (ส.ค. 59)
    พอร์ต +3.49% vs BM +15.12% แพ้เท่ากับ -11.64%

ถือเป็นการแพ้สะสมที่สูงมาก ซึ่งก็เกิดจากทั้งค่าธรรมเนียมของกอง และจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดด้วย

ส่วนเหตุผลประกอบอื่นๆ ที่ทำให้แพ้มากด้วย ก็คือการที่ BM ในส่วนของ Foreign Stock นั้น ผมเซ็ทไว้ง่ายๆ เป็นดัชนี S&P500 TRI คือมอง S&P500 เสมือนเป็นทางเลือกที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุด ถ้าจะไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ

แต่ในการลงทุนจริงนั้น ผมใช้วิธีเลือก Region และ Sector เอาเอง โดยคิดว่าจะเลือกได้ดีกว่าการลงทุนง่ายๆ ตาม S&P500 แต่ผลปรากฎว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตั้งแต่ที่เริ่มลงทุนในเดือน ส.ค. 59 มานั้น ดัชนี S&P500 ถือเป็นดัชนีหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนดีอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว ขณะที่หุ้นต่างประเทศใน Region อื่นๆ นั้น ทำได้ไม่ดีเท่า

นอกจากนั้น BM ในส่วนของ Property ซึ่งผมเลือกใช้กอง M-PROPERTY มาเป็น Benchmark เนื่องจากดัชนี SET PF&REIT TRI ที่ควรใช้เป็น BM มากกว่า ไม่ได้มีเผยแพร่ให้เข้าถึงได้ง่าย ณ วันที่เริ่มสร้างพอร์ต

ซึ่งตอนแรกผมมองว่า M-PROPERTY จะเป็นกองระดับกลางๆ เนื่องจากเป็นกองที่ค่อนข้างเก่า นโยบายการลงทุนไม่ได้กว้างนัก แถมปิดไม่ให้ซื้อเพิ่มแล้ว ก็กลับให้ผลตอบแทนได้สูงสุดอันดับต้นๆ ในกลุ่ม Fund of Property Fund ทำให้กอง Property ที่เลือกมาลงทุนจริง ให้ผลตอบแทนแพ้ M-PROPERTY มาตลอด

หากล้างผลการแพ้ชนะในปีเก่าๆ ทิ้งไป เหลือไว้แค่ปี 2018 ก็ยังถือว่าแพ้เยอะอยู่ ดังรูปด้านล่าง

03-2-benchmark

นั่นคือตั้งแต่ต้นปีมานี้ BM กำไร +2.60% แต่พอร์ตขาดทุนไป -5.53% แพ้อยู่ -8.13% ซึ่งถือว่าแพ้เยอะ

สาเหตุของการแพ้เดือนล่าสุดคืออะไร ในหัวข้อต่อไป จะมีคำตอบให้ครับ


วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน พ.ย. 61

04-attribution-graph

จากกราฟ Performance Attribution (อย่างง่าย) ด้านบน เราสามารถวิเคราะห์ดูสาเหตุได้ครับ ว่าสาเหตุของการที่พอร์ตสามารถเอาชนะ BM ในเดือนนี้นั้น เกิดจากอะไร

  1. ระดับ Tactical Asset Allocation (TAA)
  • ระดับนี้เราจะยังไม่ดูกอง แต่ดูที่ระดับ Asset ก่อน จะเห็นว่าเดือนนี้ Asset Benchmark ส่วนใหญ่ Rebound คือเด้งกลับขึ้นมาจากการตกหนักในเดือน ต.ค. ยกเว้นแต่เพียงหุ้นไทย ที่ยังลงต่อเนื่อง 
  • โดยสรุปผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ในเดือน พ.ย. 61 เป็นดังนี้
    • ตราสารหนี้ไทย +0.40%
    • อสังหาไทย +0.61%
    • หุ้นไทย -1.56%
    • หุ้นต่างประเทศ +2.29%
    • ทองคำ +0.23%
  • ซึ่งในการตัดสินใจลงทุนจริงนั้น ผมได้ Underweight ไว้ในทุกสินทรัพย์ก็ถือว่าพลาดโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการ Rebound นี้แบบเต็มๆ ไป
  • จะมีส่วนที่ทำได้ดีก็เฉพาะที่เลือก Underweight หุ้นไทยไว้ เพราะหุ้นไทยลงต่อจริงๆ
  • ต้อง Remark ไว้ตัวใหญ่ๆ ว่า นี่เป็นเพียงการอ่านผลรายเดือน ซึ่งก็สะท้อนแค่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ เท่านั้น ผมนำมันมาใช้ตัดสินใจบ้างก็เพียงเล็กน้อย ในการตัดสินใจปรับพอร์ต จะใช้การประเมินโดยเน้นการมองไปข้างหน้า (Forward-Looking) เป็นหลัก

2. ระดับ Fund Selection

  • ในระดับนี้เราจะเจาะเข้ามาดูกองที่เลือกไว้กันว่า เมื่อเทียบกับ Asset BM แล้ว กองทำได้ดีร้ายอย่างไร
  • หากอ่านที่คอลัมน์ Selection จะเห็นว่าเดือนนี้เริ่มมีกองที่ Overperformed ตัว Asset BM ของตัวเองอยู่หลายกอง โดยเฉพาะ CIMB-PRINCIPAL GOPP-A ที่แผ่วมานาน เดือนนี้ดีดกลับมาดีมาก เพราะ Asset BM บวก 2.29% แต่กองบวกไปถึง 4.83% เลยทีเดียว
  • กองที่ทำได้ไม่ค่อยดีคือ CIMB-PRINCIPAL GIF ซึ่งผมยังถือไว้เพราะชอบเป็นการส่วนตัว ด้วยการที่กองเป็นกองหุ้นที่เน้นลงทุนในสาธารณูปโภคทั่วโลก ผลตอบแทนระยะยาวใช้ได้ เมื่อเทียบกับความผันผวนที่น้อยกว่าหุ้นทั่วๆ ไป เพียงแต่ช่วงสั้นๆ นี้กองทำได้ไม่ค่อยดีเท่านั้น (กองลักษณะนี้ไม่ค่อยชอบภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น)

โดยรวมผลลัพธ์การลงทุนในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาถือว่าพอใช้ได้ครับ เพราะเมื่อรวมผลจาก Active Decision ทั้งสอง คือ TAA และ Selection พอร์ตก็บวกไป +0.55% เทียบกับ Portfolio BM ที่บวกน้อยกว่าคือ +0.22%

ปล. ถ้าท่านใดตาไวจะสังเกตว่า ผลตอบแทนเดือนนี้ของพอร์ตที่ผมเขียนไว้ด้านบนของหน้านั้นบวกอยู่จริงที่ +0.76% ไม่ใช่ +0.55% ซึ่งสาเหตุที่มันต่างกัน ก็เพราะในการวัดที่มาของผลตอบแทน (Performance Attribution) นี้ ผมวัดแบบ “สิ้นเดือนชนสิ้นเดือน” เสมือนว่าพอร์ตมีการปรับแล้วเสร็จตั้งแต่สิ้นเดือนที่แล้วเลย

แต่ในความเป็นจริง กว่าผมจะสั่งปรับพอร์ตในเดือนที่แล้ว มันก็เลื่อนมาช่วงสัปดาห์แรกของเดือนใหม่แล้ว จึงทำให้ ผลตอบแทนที่พอร์ตได้จริงๆ มันแตกต่างจากการวัดแบบสินเดือน ชนสิ้นเดือนเล็กน้อย เนื่องจาก Lag Time ในการ Execute Transaction ครับ


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

หากท่านใดติดตามพอร์ตนี้มาทุกๆ เดือน จะเห็นว่านับตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 61 เป็นต้นมา ผมก็ทยอยลดสินทรัพย์เสี่ยงตระกูลหุ้นมาโดยตลอด โดยหากสังเกตจากรูปด้านล่าง จะเห็นว่าพื้นที่สีฟ้า ซึ่งเป็นตราสารหนี้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ

05-aa-history

จนราวๆ เดือน ก.ค. 61 ผมเริ่มเพิ่มหุ้น และลดสัดส่วนตราสารหนี้ลงอีกครั้ง ด้วยเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นแล้ว แต่ปรากฎว่าในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ทุกอย่างเลวร้ายลงแบบที่เกินความคาดหมายของผมไปมาก

ดังนั้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 61เป็นต้นมา ผมจึงตัดสินใจถอยกลับไปสู่โหมด “ตั้งรับ” คือ Underweight สินทรัพย์ตระกูลหุ้นอีกครั้ง จะเห็นว่าพื้นที่ของกราฟสีฟ้าจากที่เคยลดลงไป เด้งกลับขึ้นมาอีกครั้ง  ณ ปัจจุบัน

ในเดือน พ.ย. 61 นี้ สินทรัพย์เกือบทั้งหมดจะมี Rebound กลับมาบ้างเล็กน้อย และล่าสุดเช้านี้ (2 ธ.ค. 61) ทางสหรัฐฯ ก็ได้ตกลงกับจีนได้ โดยจะชะลอการเก็บภาษีเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าจากจีนออกไปก่อน โดยแลกกับการที่จีนจะต้องนำเข้าสินค้าหลายรายการจากสหรัฐฯ เป็นการแลกเปลี่ยน

ซึ่งผมเดาว่า นักลงทุนน่าจะมองเป็นข่าวดี เพราะมันทำให้แรงกดดันเรื่อง Trade War ลดลงไปชั่วคราว (หรืออาจจะยาวก็ได้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอีก)

ดูแล้วเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ผมจะขอดูไปก่อนดีกว่าครับ  เนื่องจากแนวโน้มราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ณ ปัจจุบัน ก็ยังอยู่ในขาลงอยู่ ดังตารางด้านล่าง

08-trend

ผมขอรอให้มันดีจริงๆ จนหลายๆ สินทรัพย์เริ่มฟอร์มขาขึ้นใหม่ ก็ค่อยๆ เพิ่มหุ้นกลับเข้าไปก็ได้ครับ อาจจะได้ซื้อในราคาที่แพงกว่าตอนนี้ แต่ก็น่าจะสบายใจกว่า เพราะกลัวเหลือเกินว่าจิ้มเข้าไปตอนนี้ แล้วพี่ทรัมป์จะเปลี่ยนใจอะไร ทำให้หุ้นตกกลับลงมาอีก เท่ากับเข้าไปเสียค่า Fee เล่น แถมยังได้ขาดทุนกลับมาเป็นของแถมด้วย

ด้วยการตัดสินใจเช่นนี้ เดือนนี้ผมจึงไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ตเดิม ส่วนของเงินใหม่ 5,000 บาทที่ต้องลงเพิ่ม ก็จึงใช้วิธีพักไว้ในกองตราสารหนี้ที่เดิมลงอยู่แล้ว คือ K-FIXED เช่นเดิมครับ


ทิ้งท้ายก่อนจาก

เดือนก่อนๆ โพสวิดีโอเจ้าของพอร์ตไปบ่อยแล้ว เดือนนี้ขอเป็นรูปง่ายๆ ให้เข้ากับบรรยากาศสิ้นปีแบบนี้ก็แล้วกันนะครับ

1542946000316

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *