Category Archives: Taking Actions

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (ต.ค. 60)

model-portfolio-10-2017

Model Portfolio เดือน ต.ค. 60

กลับมาพบกับสรุป Model Portfolio ประจำเดือน ต.ค. 60 ซึ่งเป็นทั้ง

  1. พอร์ตสำหรับการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
    ของผู้เข้าสัมมนา DIY Portfolio กับ A-Academy
  2. พอร์ตการลงทุนจริงของลูกสาวผม
    สำหรับเป็นทุนการศึกษาในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า
    ตามแผนที่เขียนไว้ใน หน้านี้

โดยตั้งแต่เดือนนี้ ผมจะเขียนให้กระชับขึ้น เพราะได้เขียนบรรยายแบบละเอียดมา 13 เดือนแล้ว ถ้าเขียนเหมือนเดิมซ้ำๆ อาจจะน่าเบื่อเกินไปสำหรับผู้ที่ติดตามอ่านมาประจำ

แต่ก็ยังไม่ทิ้งธรรมเนียม การอวดลูกสาว ซึ่งเป็นเจ้าของพอร์ตตัวจริง เดือนละ 1-2 รูป นะครับ เดือนนี้เธอโตขึ้นขนาดไหนแล้ว ไปดูกันเลย

aj-12-5-months

ตอนนี้ AJ อายุได้ 12 เดือนครึ่งแล้ว น้ำหนัก ส่วนสูง รอบศรีษะ อยู่ในเกณฑ์สูงทั้งหมด หมอบอกว่าเดี๋ยวคงยืด นี่ก็รอมานานแล้ว ไม่ยืดเสียที 😛


สถานะพอร์ต ณ 31 ต.ค. 60

ทุกท่านสามารถดาวโหลดไฟล์สรุปพอร์ตในรูปแบบ Excel ของเดือนนี้ ไปศึกษาอย่างละเอียดโดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ

01-outstanding

02-performance

  • เดือนนี้พอร์ตมีมูลค่า 291,125.90 บาท
    (รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน 5,000 บาท)
  • กำไรเดือน ต.ค. 60 เท่ากับ 7,873.74 บาท หรือ +2.83%
    ถือเป็นกำไรรายเดือน สูงสุดตั้งแต่เริ่มลงทุนมา
  • ผลตอบแทนสะสมปี 2560 (10 เดือน) เท่ากับ 8.66%

03-benchmark

  • วัดผลเทียบ Benchmark เดือน ต.ค. 60
    พอร์ต +2.83%  vs BM +1.77% ชนะเท่ากับ +1.06%
  • วัดผลเทียบ Benchmark  ตั้งแต่เริ่มลงทุน (ส.ค. 59)
    พอร์ต +8.13% vs BM +9.62% แพ้เท่ากับ -1.49%

วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน ต.ค. 60

04-attribution-graph

ในเดือน ต.ค. 60 นี้ หากจัดพอร์ตและลงทุนได้ตาม Benchmark เป๊ะๆ ควรจะได้ผลตอบแทนประมาณ 1.77% แต่ที่พอร์ตทำได้มากกว่ามีเหตุผลหลักมาจาก

  1. ระดับ Asset Allocation
    • มีการ Overweight Foreign Stock ในเดือนที่ Foreign Stock Benchmark ให้ผลตอบแทนดี คือ +2.61%
    • มีการ Neutral Weight Thai Stock ในเดือนที่ Thai Stock Benchmark ให้ผลตอบแทนดีเช่นกัน คือ 2.91%
  2. ระดับ Fund Selection
    • มีการเลือกกองทุนได้ดีในส่วนของหุ้นต่างประเทศ
      คือ TMBAGLF และ KF-GTECH ซึ่งทำผลตอบแทน
      ได้สูงกว่า Foreign Stock Benchmark มาก
    • มีการเลือกกองทุนได้ดีในส่วนของหุ้นไทย
      คือ BTP และ KFDYNAMIC ซึ่งทำผลตอบแทน
      ได้สูงกว่า Thai Stock Benchmark เช่นกัน

ส่วนที่มีฉุดพอร์ตอยู่บ้างคือกอง KT-EURO และ CIMB-PRINCIPAL GIF ที่เดือนนี้ทำผลตอบแทนได้ไม่ดีเท่าไร แต่อย่างน้อยก็ยังไม่ขาดทุน

และในการวัดผลจริงๆ นั้น เราไม่ควรมาตัดสินเป็นเดือนๆ แบบนี้นะครับ ว่ากองไหนดีไม่ดี เพราะเวลาเราตัดสินใจเลือกสัดส่วนสินทรัพย์ และเลือกกองเหล่านั้นมาลงทุน เราตัดสินใจกันระยะกลาง-ยาว ไม่ได้เปลี่ยนกันทุกเดือน ถ้าเปลี่ยนทุกเดือนจะโดนค่าธรรมเนียมการซื้อขายกินตายเลยนะครับ

แต่ที่สรุปพอร์ตที่ทำเผยแพร่นี้ มาเขียนวิจารณ์เป็นเดือนๆ ก็มีเหตุผลเพื่อประโยชน์ในการศึกษาเรียนรู้ และให้เห็นพัฒนาการของพอร์ตเป็นหลักเท่านั้นครับ


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

ก่อนจะไปดูว่าเดือนนี้ผมปรับพอร์ตยังไง ขอนำประวัติการปรับพอร์ตในภาพใหญ่ตลอด 14 เดือนที่ผ่านมา มาทบทวนให้ทุกท่านดูกันก่อนสักเล็กน้อย ดังกราฟด้านล่างนะครับ

05-aa-history

จากกราฟจะเห็นว่าตลอดช่วงการลงทุนที่ผ่านมา ผมมีการค่อยๆ เพิ่มหุ้นไทย (สีส้ม) และหุ้นต่างประเทศ (สีแดง) มาเรื่อยๆ โดยสินทรัพย์ส่วนที่ลดลงจะเป็นตราสารหนี้ไทย (สีฟ้าอ่อน)

ซึ่งก็ถือว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง เพราะในช่วงที่ผ่านมานั้น หุ้นทั้งไทยและเทศต่างก็ให้ผลตอบแทนที่ดี ดีจนรู้สึกว่าน่ากลัว แต่จะใช้ความรู้สึกมาตัดสินทั้งหมดก็คงไม่ได้ คงต้องดูว่าเราให้น้ำหนักกับปัจจัยใดในการลงทุนมากกว่า

  • หากพิจารณาตามแนว Momentum หรือ Trend Following ก็จะพบว่าตอนนี้สินทรัพย์ส่วนใหญ่มีราคาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นระยะยาวแทบทั้งสิ้น ซึ่งถ้าให้น้ำหนักกับปัจจัยนี้ ก็แปลว่าพอร์ตปัจจุบันที่หนักหุ้นก็โอเคแล้ว
  • แต่หากพิจารณาตามความถูกแพงหรือ Relative Valuation ก็จะพบว่าหุ้นส่วนใหญ่นั้น อยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าค่อนไปทางแพง ก็อาจต้องมีการปรับสัดส่วนหุ้นลง ให้มาสู่ระดับ Neutral ไม่ใช่ Overweight อย่างนี้
  • ครั้นพอมองปัจจัยด้านการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งโลก มันก็ดูดีขึ้น ก็อาจเป็นตัวหักล้างปัจจัยด้าน Valuation ว่าอาจจะไม่แพงก็ได้

จะเห็นว่าเมื่อพิจารณาปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน มันก็จะมีความยากในการตัดสินใจปรับพอร์ตอยู่ เพราะหลายครั้งมันไม่ไปทางเดียวกัน แต่สุดท้ายเราก็ต้องเลือกปรับบางอย่าง แล้วยอมรับกับผลของมันให้ได้ เรียกว่าเป็นเกมส์ที่ต้องเล่นไป เรียนรู้ไปตลอดชีวิต

สำหรับเดือนนี้เงินใหม่ 5,000 บาท ผมตัดสินใจเอาเข้าไปพักไว้ในกองตราสารหนี้ ซึ่งในพอร์ตที่ใช้อยู่คือกอง K-FIXED เพราะคิดว่าสัดส่วนสินทรัพย์อื่นๆ มันโอเคดีแล้ว โดยเฉพาะหุ้นที่มีมากจนไม่อยาก Load หุ้นเข้าไปมากกว่านี้แล้ว การทำแบบนี้พอร์ตก็จะเข้าสู่สมดุลมากขึ้น มีสินทรัพย์ที่เสมือนเงินสดมากขึ้น

06-transaction

หากเดือนหน้าภาวะตลาดยังเป็นแบบนี้อยู่ ก็อาจจะปรับแบบเดียวกัน คือปรับพอร์ตเข้าสู่ Strategic Weight มากขึ้น ค่อยๆ ลดหุ้นส่วนที่ Overweight ลง แต่แทนที่จะลดด้วยการขาย เราลดด้วยการที่ไม่นำเงินใหม่ไปซื้อเพิ่มแทนครับ

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (ก.ย. 60)

model-portfolio-09-2017

Model Portfolio เดือน ก.ย. 60

ถือเป็นเดือนที่ 13 ของการลงทุนในพอร์ตตัวอย่าง ที่ใช้เงินจริงพอร์ตนี้  (อ่านที่มาที่ไปของพอร์ตได้จาก โพสนี้ )

เดือนนี้ถือเป็นอีกเดือนที่ชื่นมื่น โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนชาวไทย เพราะสินทรัพย์แถวบ้านเราปรับตัวขึ้นแรงอย่างต่อเนื่อง พอร์ตตัวอย่างนี้เองก็ได้กำไรรวมทั้งพอร์ตมา +1.72% เช่นกัน

ก่อนไปดูรายละเอียดพอร์ต ก็มาดูหนู AJ เจ้าของพอร์ตตัวจริงกันก่อนสักหน่อย เดือนนี้เธอก็ 11 เดือนแล้ว ช่วงต้นเดือนได้ไป Admit โรงพยาบาลเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิด จากการติดเชื้อ RSV โดนไปศิริรวม 3 คืน

ดีที่คุณพ่อวางแผนเรื่องประกันต่างๆ ไว้ ทันที ตั้งแต่ที่เด็กเล็กสามารถซื้อประกันได้ (อายุครบ 1 เดือน) ทำให้ไม่ต้องควักเงินจ่ายเพิ่ม (และได้ Cash Back มาเล็กน้อย)

แต่แม้จะไม่เดือดร้อนเงิน แต่ก็ถือว่าเดือดร้อนใจมากทีเดียว เพราะหลังจากออกจาก รพ. มา เธอก็หวาดระแวงไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้อยู่หลายวัน เพราะกลัวจะมาดูดน้ำมูกเธอเหมือนที่เธอโดนวันละ 4-5 ครั้งที่ รพ.

img20170922150753


สถานะพอร์ต ณ 29 ก.ย. 60

ก่อนอื่นดาวโหลดไฟล์ Excel เดือนนี้ ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน โดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ

01-outstanding

02-performance

จากตารางด้านบน เมื่อรวมเงินใหม่ 5,000 บาทที่เพิ่งใส่เข้าไปช่วงสิ้นเดือน และเงินปันผลที่ได้รับจากกอง TMBPIPF อีก 1,534.91 บาท มูลค่าพอร์ต ณ วันที่ 29 ก.ย. 60 จะเท่ากับ 278,252.76 บาท โดยมี กำไรสะสมมาแล้วคือ 13,252.16 บาท หรือคิดเป็นประมาณ 5% จากเงินลงทุนที่ใส่เข้าไปครั้งแรก 2 แสน เมื่อ 31 ส.ค. 59 และใส่เพิ่มเดือนละ 5,000 บาทมาได้ 13 เดือน

โดยในเดือนล่าสุดพอร์ตได้กำไรมา 4,632.40 บาท หรือ +1.72% นี่คือการวัดแบบ Absolute คือวัดเทียบกับต้นทุนหรือมูลค่าพอร์ต ณ เดือนก่อน ซึ่งเราจะรู้แค่ว่าได้กำไรมา แต่จะยังตอบไม่ได้ว่ากำไรนี้ถือว่าเราทำได้ดีหรือไม่

จะตอบได้ต้องมาวัดแบบ Relative เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับพอร์ตจริง หรือที่เราเรียกว่า Portfolio Benchmark เสริมเข้าไปด้วย ดัังนี้

03-benchmark

จากตารางบรรทัดสุดท้าย จะเห็นว่าพอร์ตจริงทำได้ +1.72% ส่วน Portfolio Benchmark ทำได้ +2.97% ซึ่งก็แปลว่า แม้จะกำไรก็จริง แต่ก็ถือว่าทำได้น้อยเกินไป เพราะ Benchmark ที่ความเสี่ยงพอๆ กัน ทำกำไรได้มากกว่า

 

ซึ่งเราก็จะมาเจาะดูกันต่อครับ ว่าทำไม Benchmark ถึงได้เยอะ และที่พอร์ตแพ้เนี่ย เกิดจากจุดไหน


วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน ก.ย. 60

04-attribution-graph

05-attribution-old

ก่อนอื่นลองมาดู Benchmark Return ของเดือนนี้กันก่อนนะครับ

  • Thai Bond (ดัชนี ThaiBMA Gov. Bond 1-3Y Maturity) +0.15%
  • Thai Property (กอง M-PROPERTY) +6.08%
  • Thai Stock (ดัชนี SET TRI) +3.74%
  • Foreign Stock (ดัชนี S&P500 TRI) +2.27%
  • Alternative (ราคาทองคำ LBMA Gold AM) -1.44%

อย่างที่บอกไปช่วงต้นนะครับ ว่าเดือนนี้ชื่นมื่นจริงๆ เพราะหายากนะครับที่สินทรัพย์ต่างๆ จะบวกกันเดือนเดียวเกิน 2% ได้หลายๆ สินทรัพย์
โดยเฉพาะอสังหาฯ ไทย ที่บวกมาเดือนนี้ถึง 6.08%

ซึ่งเมื่อคำนวณผลตอบแทนเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average) ในสัดส่วน

15% : 25% : 30% : 20% : 10%

ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับ Strategic Weight หรือ SAA ของพอร์ตนี้ เดือนนี้ก็ Portfolio Benchmark จะมีกำไร +2.97%

หมายความว่า ถ้าเราจัดพอร์ตให้ได้ตามสัดส่วนข้างต้น และลงทุนในกองทุนที่พยายามสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีทั้ง 5 ที่เราเลือกมาเป็นตัวอ้างอิง ก็ควรจะได้ผลตอบแทนออกมาประมาณ +2.97% แล้ว

ทีนี้เรามาดูกันครับ ว่าทำไมพอร์ตจริงถึงแพ้ Benchmark ได้ ซึ่งที่มา (Source) ของ Alpha นั้น ก็จะอยู่ในการตัดสินใจ 2 Layer ต่อไปนี้

Layer 1 : Tactical Allocation
(เอียงน้ำหนักของสินทรัพย์ในพอร์ตให้เพี้ยนไปจากแผนระยะยาว)

ในการประเมินตัวเองใน Layer นี้นั้น เราจะยังไม่ไปดูว่า กองที่เราลงได้เท่าไร แต่เราจะดูเฉพาะ Benchmark Return ว่าทำได้เท่าไร และเราตัดสินใจ Overweight หรือ Underweight สินทรัพย์นั้นในพอร์ตได้ถูกต้องมั๊ย จึงยังไม่เอาเรื่องการเลือกกองทุน (Fund Selection) มาปน

ในการประเมิน Layer นี้เราจะไม่ประเมินสินทรัพย์ที่คงน้ำหนักไว้กลางๆ (Neutral Weight) เพราะถือว่าเราลงทุนตามแผนระยะยาว ไม่ได้เอียงพอร์ตไปด้านใดด้านหนึ่ง ถือว่าไม่ใช่ Active Decision จึงไม่ต้องวัดผลว่าทำถูกหรือผิด

ในส่วนที่ผมมี Over/Underweight ไว้ เดือนนี้ถือว่าตัดสินใจผิด เพราะ…

  • Underweight Property ในเดือนที่ Property Benchmark ให้ผลตอบแทนเป็นบวกค่อนข้างมาก คือ +6.08% ทำให้แทนที่จะได้เยอะ ก็เลยได้น้อยลง (SAA Weight = 25.0% / Actual Weight = 19.6%)
  • Overweight Foreign Stock ในเดือนที่ Foreign Stock Benchmark ให้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่บวกไม่เท่ากับหุ้นไทย และอสังหาฯ ไทย (SAA Weight = 20.0% / Actual Weight = 27.2%)

ถ้าจะให้ถูกผมควรทำกลับกัน คือ Overweight Property แล้ว Underweight Foreign Stock มากกว่า หรือจะให้ Active น้อยลงกว่านั้นก็คือถ้า Neutral มันทุกสินทรัพย์เลย เดือนนี้จะได้ผลตอบแทน ดีกว่าพอร์ตจริงที่จัด

Layer 2 : Securities/Fund Selection
(การเลือกกองทุนมาเป็นตัวแทนของสินทรัพย์)

ที่นี่มาดูที่ตัวกองที่เราเลือก ว่าทำได้ดีกว่า Asset Benchmark ของตัวมันเองมั๊ย ซึ่งได้ผลดังนี้

  • K-FIXED +0.24% vs BM + 0.15% ชนะ
  • TMBPIPF +1.47% vs BM +6.08% แพ้อย่างมาก!
  • BTP +3.58% vs BM +3.74% แพ้นิดหน่อย
  • KFDYNAMIC +7.77% vs BM +3.74% ชนะอย่างมาก!
  • TMBAGLF -3.01% vs BM +2.27% แพ้อย่างมาก!
  • KT-EURO +3.46% vs BM +2.27% ชนะ
  • KF-GTECH +0.87% vs BM +2.27% แพ้
  • CIMB PRINCIPAL GIF +0.41% vs BM +2.27% แพ้
  • TMBGOLDS -1.29% vs BM -1.44% ชนะนิดหน่อย

เช่นเดิมนะครับ ผลก็จะออกมาผสมๆ กัน เพราะนี่เราวัดกันสั้นๆ แค่เดือนเดียว มันก็อาจมีบางกองชนะ บางกองแพ้อยู่แล้ว แต่ก็พอได้รู้ครับว่าเดือนนี้เกิดอะไรขึ้นกับพอร์ต

จะมีตัวที่น่าพูดถึงอยู่ 2 ตัว ตัวแรกคือ TMBPIPF ที่แพ้ BM อย่างมาก ทั้งๆ ที่ในอัพเดทพอร์ต เดือนที่แล้ว ผมอุตส่าห์สรุปแล้วว่า SET PF&REIT Index กลับมาเป็นขาขึ้น ซึ่งมันก็ขึ้นจริงๆ เพราะ BM บวกมา 6.08% แต่กอง TMBPIPF กลับได้มาแค่ 1.47%

ผมลองค้นหาคำตอบด้วยการเปิดดูผลตอบแทนของ Fund of Property Fund หลายๆ กองในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาดู ก็ได้ข้อสรุปว่า กองที่ลงอสังหาฯ ไทยล้วนจะบวกเยอะ ส่วนที่ลงแบบผสม Singapore REITS ด้วยนั้น จะบวกกันแค่ 1% เศษๆ เท่านั้น

ถ้าใครติดตามอ่านมาตลอด จะเห็นว่าเดิมพอร์ตนี้ ผมลงอสังหาไทยล้วนมาตลอด เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็น TMBPIPF ไม่นาน เพราะอยากได้การกระจายความเสี่ยงมากขึ้น และในช่วงที่เปลี่ยน TMBPIPF ก็ผลตอบแทนโดดเด่นกว่าอสังหาไทยล้วนอยู่มาก เท่ากับว่าปรับมาแล้วแย่กว่าเดิม ก็ต้องยอมรับผลไปครับ

ส่วนอีกกองที่อยากพูดถึงคือ KFDYNAMIC ซึ่งบวกแบบไม่ลืมหูลืมตามา +7.77% ในเดือนนี้ ถือว่าช่วยพอร์ตได้มากครับ ส่วนตัวผมก็ยังคิดเหมือนกับตอนที่ปรับเอากองนี้มาเข้าพอร์ตครั้งแรก เมื่อเดือน พ.ค. 60 ว่ากองนี้ทำอะไรบางอย่างได้ถูก และยังคงรักษา Momentum การตัดสินใจได้ถูกมาได้จนถึงวันนี้ (ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีซัดไป +30.26% เข้าไปแล้ว)

ซึ่งผมก็ยังไม่ประมาทด้วยการทุ่มลงกองเดียว เพราะก็ยังแบ่งสัดส่วนของหุ้นไทยไปให้กับกอง BTP ด้วยอีกกอง แม้ปีนี้จะทำได้ไม่ต้องดี (YTD Return +8.09%) แต่ฝีมือระยะยาวๆ ก็ยังอยู่ในกลุ่มแนวหน้าของกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่อยู่


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

เงินเก่าที่อยู่ในพอร์ตแล้ว ผมเฉยๆ กับมัน คือไม่รู้สึกว่าอยากปรับอะไร คิดว่าที่มันเป็นอยู่ก็ดีแล้ว สบายใจแล้ว

ส่วนเดือนนี้ผมมีเงินใหม่ 5,000 บาท และเงินปันผลที่ได้จาก TMBPIPF อีก 1,534.91 บาท รวมเป็น 6,534.91 บาท ก็ตั้งใจจะซื้อเพิ่มเข้าไปในหุ้นไทย ด้วยเหตุผลเชิง Trend Following / Momentum ว่ายังลงทุนได้

set

หากพิจารณาจากเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 20/40 สัปดาห์ (100/200 วัน) จะเห็นว่า SET Index ก็เพิ่งปรับตัว สร้างแนวโน้มขาขึ้นรอบใหม่ ก็มีโอกาสที่จะไปต่อได้ อีกทั้ง Valuation ของหุ้นไทยก็ไม่ได้แพงเว่อร์ อยู่ในโซนกลางๆ ค่อนไปทางแพงนิดๆ เท่านั้น

ดังนั้นเดือนนี้ผมจึงทำรายการตามรูปด้านล่างนี้นะครับ

06-transaction

จะเห็นว่าแบ่งซื้อ 2 กองอย่างที่บอกไปด้านบน แต่ก็แบ่งให้ KFDYNAMIC มากหน่อย แต่ไม่ได้มีนัยยะอะไรมากมายหรอกครับ

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (ส.ค. 60)

model-portfolio-08-2017

Model Portfolio เดือน ส.ค. 60

เดือนนี้ถือเป็นเดือนครบรอบ 1 ปี ของการลงทุนในพอร์ตตัวอย่างพอร์ตนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นพอร์ตตัวอย่าง เพื่อฝึกการตัดสินใจและฝึกการวัดและประเมินผลสำหรับผู้ที่เรียนหลักสูตร DIY Portfolio แล้ว

พอร์ตนี้ก็ยังเป็นพอร์ตเงินจริงที่ผมจะมอบให้กับลูกสาวของผมในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้าด้วย (ตามที่เคยได้เขียนรายละเอียดไปเมื่อตอนเริ่มต้นลงทุนที่ โพสนี้ )

ถือว่าปิดเดือนที่ 12 ของการลงทุนได้ด้วยดี คือได้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยเดือนนี้พอร์ต +1.37% แต่ก็อาจไม่ดีนักเพราะแพ้ Benchmark ของพอร์ตซึ่งได้ถึง +1.92%

ถือเป็นเดือนที่สินทรัพย์ต่างๆ ให้ผลตอบแทนดีมากๆ เพราะนอกจากหุ้นต่างประเทศท่ี่ลบหน่อยๆ แล้ว ทุกสินทรัพย์ก็ให้ผลตอบแทนเป็นบวกหมด โดยเฉพาะการฟื้นตัวขึ้นมาของสินทรัพย์ไทย ซึ่งทั้ง Property และ Thai Stock ดีดขึ้นมาแรงถึงกว่า 3% ในเดือนเดียว

อ๊ะๆ… แต่โดยธรรมเนียมก่อนจะไปดูรายละเอียดกัน มาอัพเดทการเจริญเติบโตของเอเจ ลูกสาวผม เจ้าของพอร์ตตัวจริงกันก่อนสิว่าน่ารักขนาดไหนแล้ว

aj-10-5-month

ตอนนี้หนูย่าง 11 เดือนแล้วนะคะ เริ่มมีแววเป็นหญิงบ้างแล้ว จากที่ถูกทักว่า ‘หล่อเหมือนพ่อ” มาตลอด อิอิอิ


สถานะพอร์ต ณ 31 ส.ค. 60

ก่อนอื่นดาวโหลดไฟล์ Excel เดือนนี้ ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน โดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ

01-outstanding

02-performance

จากตารางด้านบน เมื่อรวมเงินใหม่ที่เพิ่งใส่เข้าไปช่วงสิ้นเดือน มูลค่าพอร์ต ณ วันที่ 31 ส.ค. 60 จะเท่ากับ 268,619.76 บาท โดยมี กำไรสะสมมาแล้วคือ 8,619.76 บาท หรือคิดเป็นประมาณ +3.35% จากเงินลงทุนที่ใส่เข้าไปครั้งแรก 2 แสน เมื่อ 31 ส.ค. 59 และใส่เพิ่มเดือนละ 5,000 บาทมาได้ 12 เดือน

ดูกำไรอาจจะไม่ได้เยอะมากมาย เนื่องจากพอร์ตที่จัดนี้ก็ไม่ใช่พอร์ตเสี่ยงสูงอะไรมากนัก อีกทั้งใน 12 เดือนที่ผ่านมาสินทรัพย์หลักๆ เช่นหุ้นไทยก็ซึมมานานเพิ่งจะมาดีเอาเดือนที่แล้ว ส่วนอสังหาฯ และทองคำ ซึ่งพอร์ตนี้มีนโยบายกระจายการลงทุนไปในน้ำหนักที่พอสมควร ก็ให้ผลตอบแทนติดลบในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนั้นพอร์ตยังได้รับอิทธิพลจาก Front-end Fee ที่เกิดตอนที่ซื้อครั้งแรกอยู่พอสมควร (โดยเฉพาะตอนที่เริ่มลงทุนเงิน 2 แสนบาทก้อนแรก) ได้มาเท่านี้ ไม่ขาดทุนก็ถือว่าพอไปวัดไปวาได้ อย่างน้อยก็ชนะกองทุนรวมตราสารหนี้พอให้ไม่อาย

แต่สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นนอกจากเรื่องกำไร/ขาดทุน ซึ่งเราจะวิจารณ์กันอยู่แล้วเหมือนทุกเดือน คือเรื่องของ “ขนาดของพอร์ต” ที่โตขึ้นมาจาก 2 แสน มาเป็นร่วม 2.7 แสนแล้ว แน่นอนว่ามาจากเงินต้นที่ใส่เข้าไปเป็นประจำเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้มากกว่าเรื่องผลตอบแทน

ดังนั้น ฝั่งผลตอบแทนเราก็พยายามบริหารไป แต่ก็อย่าละเลยเงินลงทุนเพิ่มนะครับ โดยเฉพาะกรณีที่เราไม่ได้มีพอร์ตใหญ่โตแต่แรก เงินที่ใส่เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ จะสำคัญมาก


ซึ่งนอกจากการวัดกำไรแบบ Absolute เทียบกับต้นทุนแล้ว เรามาดูการวัดแบบ Relative เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับพอร์ตจริง หรือที่เราเรียกว่า Portfolio Benchmark กันบ้าง

03-benchmark

จากตารางและกราฟ จะเห็นว่าในตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา หากดูในช่อง Alpha ก็จะพบว่าพอร์ตจริงแพ้ Benchmark อยู่ 7 เดือน และชนะได้เพียง 5 เดือน ทำให้เมื่อสะสมผลการแพ้ชนะทบต้นมา 12 เดือน สรุปแล้วคือพอร์ตแพ้ไป -1.22%

ซึ่งแปลว่าความพยายามทำนู่นทำนี่ของผมตลอด 12 เดือนที่ผ่านมายังไม่ค่อยเป็นผลเท่าไร เพราะถ้าผมไม่มัวมาปรับ Weight แบบ Tactical Asset Allocation (TAA) แต่คง Weight ไว้ให้เท่ากับ Weight ระยะยาวหรือ Strategic Asset Allocation (SAA) เสีย รวมทั้งเรื่องการเลือกกองก็ไม่ต้องเลือกมาก เน้นลงทุนใน Index Fund ที่เลียนแบบดัชนีของสินทรัพย์ต่างๆ ไป ผลตอบแทนที่ได้ก็อาจมากกว่าพอร์ตจริง

แต่นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของพอร์ตตัวอย่างนี้ครับ เพราะพอร์ตนี้อยากจะลองฝึกการตัดสินใจแบบต่างๆ ดู ผิดก็ปรับแก้กันไป เรียนรู้กันไป

ว่าแล้วลองมาดูกันครับ ว่าเดือนนี้การตัดสินใจไหนที่ถูกและนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดี และการตัดสินใจไหนที่ผิดและนำมาซึ่งผลตอบแทนที่แย่ (จนทำให้แพ้ Benchmark)

 


วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน ส.ค. 60

04-attribution-graph

05-attribution-old

ก่อนอื่นลองมาดู Benchmark Return ของเดือนนี้กันก่อนนะครับ

  • Thai Bond (ดัชนี ThaiBMA Gov. Bond 1-3Y Maturity) +0.23%
  • Thai Property (กอง M-PROPERTY) +2.60%
  • Thai Stock (ดัชนี SET TRI) +3.32%
  • Foreign Stock (ดัชนี S&P500 TRI) -0.34%
  • Alternative (ราคาทองคำ LBMA Gold AM) +1.86%

ถือเป็นเดือนที่ดีของนักลงทุนไทย เพราะสินทรัพย์ฝั่งไทยบวกหมดและบวกแรงด้วย ซึ่งเมื่อคำนวณผลตอบแทนเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average) ในสัดส่วน

15% : 25% : 30% : 20% : 10%

ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับ Strategic Weight หรือ SAA ของพอร์ตนี้ เดือนนี้ก็ Portfolio Benchmark จะมีกำไร +1.92%

หมายความว่า ถ้าเราจัดพอร์ตให้ได้ตามสัดส่วนข้างต้น และลงทุนในกองทุนที่พยายามสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีทั้ง 5 ที่เราเลือกมาเป็นตัวอ้างอิง ก็ควรจะได้ผลตอบแทนออกมาประมาณ +1.92% แล้ว

ทีนี้เรามาดูกันครับ ว่าทำไมพอร์ตจริงถึงแพ้ Benchmark ได้ ซึ่งที่มา (Source) ของ Alpha นั้น ก็จะอยู่ในการตัดสินใจ 2 Layer ต่อไปนี้

Layer 1 : Tactical Allocation
(เอียงน้ำหนักของสินทรัพย์ในพอร์ตให้เพี้ยนไปจากแผนระยะยาว)

ในการประเมินตัวเองใน Layer นี้นั้น เราจะยังไม่ไปดูว่า กองที่เราลงได้เท่าไร แต่เราจะดูเฉพาะ Benchmark Return ว่าทำได้เท่าไร และเราตัดสินใจ Overweight หรือ Underweight สินทรัพย์นั้นในพอร์ตได้ถูกต้องมั๊ย จึงยังไม่เอาเรื่องการเลือกกองทุน (Fund Selection) มาปน

โดย Layer นี้เดือนนี้ถือว่าผมพลาด เพราะส่วนที่ตัดสินใจถูกต้อง “ไม่มีเลย” แต่ส่วนที่ตัดสินใจผิด คือ

  • การ Underweight Property ในเดือนที่ Property Benchmark ให้ผลตอบแทนเป็นบวกค่อนข้างมาก คือ +2.60% ทำให้แทนที่จะได้เยอะ ก็เลยได้น้อยลง (SAA Weight = 25.0% / Actual Weight = 20.6%)
  • การ Underweight Thai Stock ในเดือนที่ Thai Stock Benchmark ให้ผลตอบแทนเป็นบวกแรงมาก คือ +3.32% ทำให้แทนที่จะได้เยอะ ก็เลยได้น้อยลง (SAA Weight = 30.0% / Actual Weight = 26.8%)
  • การ Overweight Foreign Stock ในเดือนที่ Foreign Stock Benchmark ให้ผลตอบแทนเป็นลบคือ -0.34% ทำให้ขาดทุนมากขึ้น (SAA Weight = 20.0% / Actual Weight = 28.2%)

ในการประเมิน Layer นี้เราจะไม่ประเมินสินทรัพย์ที่คงน้ำหนักไว้กลางๆ (Neutral Weight) เพราะถือว่าเราลงทุนตามแผนระยะยาว ไม่ได้เอียงพอร์ตไปด้านใดด้านหนึ่ง ถือว่าไม่ใช่ Active Decision จึงไม่ต้องวัดผลว่าทำถูกหรือผิด

Layer 2 : Securities/Fund Selection
(การเลือกกองทุนมาเป็นตัวแทนของสินทรัพย์)

ที่นี่มาดูที่ตัวกองที่เราเลือก ว่าทำได้ดีกว่า Asset Benchmark ของตัวมันเองมั๊ย ซึ่งได้ผลดังนี้

  • K-FIXED +0.38% vs BM + 0.23% ชนะ!
  • TMBPIPF +0.78% vs BM +2.60% แพ้
  • BTP +2.19% vs BM +3.32% แพ้
  • KFDYNAMIC +4.18% vs BM +3.32% ชนะ!
  • TMBAGLF +0.35% vs BM -0.34% ชนะ!
  • KT-EURO -0.45% vs BM -0.34% แพ้นิดหน่อย
  • KF-GTECH -1.14% vs BM -0.34% แพ้
  • CIMB PRINCIPAL GIF +1.24% vs BM -0.34% ชนะ!
  • TMBGOLDS +2.91% vs BM +3.12% แพ้นิดหน่อย

จะเห็นว่าใน Layer นี้ผลก็ออกมาผสมๆ กันนะครับ คือชนะบ้างแพ้บ้าง แต่เมื่อนำผลตอบแทนของทั้งสองชั้นการตัดสินใจ มารวมกัน ก็จะพบว่าผลตอบแทนของ Portfolio ได้ +1.37% เทียบกับ Portfolio Benchmark ซึ่งได้ +1.92% ซึ่งแปลว่า โดยรวมแล้ว Active Decision ของเดือนนี้ทำแล้วแพ้ไปนะครับ

ปล. แต่ต้องเน้นตรงนี้นะครับ ว่าการวิเคราะห์ในส่วนนี้ เป็นผลของเดือนนี้เท่านั้น ไม่ได้แปลว่าเราจะเอาผลนี้ไปใช้ปรับพอร์ตอะไรได้มากมาย เพราะการลงทุนจริงๆ มันยาวกว่านั้น ไม่มีอะไรดีทุกเดือนอยู่แล้ว และก็ไม่มีอะไรที่แย่ตลอดเช่นกัน แต่ที่เอามาเขียนให้ดูแบบนี้ เพื่อฝึกให้วิเคราะห์พอร์ตตัวเองให้เป็นเฉยๆ ครับ


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

ผมมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันของสินทรัพย์ต่างๆ ก็ยังอยู่ในภาวะที่ไม่ได้มีอะไรน่ากลัวเป็นพิเศษ ฝั่งหุ้นต่างประเทศอาจจะแพงบ้าง แต่ถ้าไม่นับเรื่องความเสี่ยงที่เกินจะคาดเดาอย่างภัยสงครามต่างๆ ความเสี่ยงหลักๆ ก็ไม่คิดว่ามีอะไรที่น่ากลัวจนเราควรต้องปรับพอร์ตตั้งการ์ดรอไว้ตั้งแต่ตอนนี้

ในทางกลับกัน สินทรัพย์ในประเทศก็ดูดีขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งหุ้นไทย และอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ไทย หากวัดด้วยดัชนี SET PF&REIT Index ก็เพิ่งกลับมาเป็นขาขึ้น (สะท้อนจากการสามารถยืนอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย 20 และ 40 สัปดาห์ หรือ 100 และ 200 วันได้แล้ว)

pfreit

ดังนั้นผมคิดว่าพอร์ตสินทรัพย์ไทยที่ Underweight ไว้ ก็จะพยายามปรับมาให้เป็น Neutral Weight มากขึ้น เพียงแต่ยังไม่อยากขาย Foreign Stock ออกมาแบ่ง Weight ให้สินทรัพย์ไทยในทันที เพราะกองหุ้นต่างประเทศทั้งหมดที่ถือ ผมก็ยังเชื่อว่ามันยังไปได้ โดยเฉพาะเมื่อดูจากแนวโน้มราคาแบบ Trend Following ที่ทุกตัวยังอยู่ในขาขึ้นอยู่

ดังนั้นเดือนนี้ พอร์ตเก่าก็ไม่ไปแตะอะไรมัน ส่วนเงินใหม่ 5 พันบาท ก็จะแบ่งไปเติม Weight ให้สินทรัพย์ที่พร่องอยู่ ซึ่งหลักๆ ก็คือหุ้นไทย และก็จะเติมเข้าไปในทองคำนิดหน่อย เพราะราคาก็ปรับตัวดีขึ้นมาค่อนข้างน่าสนใจ (หากคิดแบบ Trend Follower)

สรุปเดือนนี้จึงกระจายเงินใหม่ 5 พันบาทไปซื้อกองทุนต่างๆ ดังนี้

  • BTP 2 พันบาท
  • KFDYNAMIC 2 พันบาท
  • TMBGOLDS 1 พันบาท

หุ้นไทยก็ยังกระจายสองกอง ตามพอร์ตเดิม ทองคำก็ยังใช้กองเดิม และได้ทำ Transaction ไปดังรูปนี้ครับ

06-transaction

สังเกตว่าทองคำรายการจะเกิดวันที่ 5 ก.ย. เนื่องจากวันที่ 4 ก.ย. เป็นวันหยุดของกอง TMBGOLDS ครับ