Category Archives: Monitoring & Review

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (เม.ย. 61)

model-portfolio-04-2018-jpg

Model Portfolio เดือน เม.ย. 61 

กลับมาพบกับสรุป Model Portfolio ประจำเดือน เม.ย. 61 ซึ่งจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เป็นพอร์ตสำหรับการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
    ของผู้เข้าสัมมนา DIY Portfolio กับ A-Academy
    (ดังนั้นถ้าบางท่านอ่านไม่รู้เรื่อง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเนื้อหาเหล่านี้
    ผมสอนไว้ในหลักสูตร DIY ซึ่งไม่ได้มีวิดีโอให้ดูใน YouTube นะครับ)
  2. เป็นพอร์ตการลงทุนจริงของลูกสาวผม
    สำหรับเป็นทุนการศึกษาในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า
    ตามแผนที่เขียนไว้ใน หน้านี้

ก่อนอื่น ทุกท่านสามารถดาวโหลดไฟล์สรุปพอร์ตในรูปแบบ Excel ของเดือนนี้ ไปศึกษาอย่างละเอียดโดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ


สถานะพอร์ต ณ 30 เม.ย. 61

01-outstanding 02-performance

  • เดือนนี้พอร์ตมีมูลค่า 322,209.42 บาท
    (รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน 5,000 บาทแล้ว)
  • เดือน เม.ย. 61 กำไร เท่ากับ 1,491.54 บาท หรือ +0.47%
    ฟื้นตัวจากการขาดทุนต่อเนื่องใน 2 เดือนก่อนหน้า
  • แต่ผลตอบแทนสะสมปี 2561 (4 เดือน) ยังคงขาดทุนอยู่  -0.86%

03-2-benchmark

  • วัดผลเทียบ Benchmark เดือน เม.ย. 61
    พอร์ต +0.47% vs BM +0.80% แพ้ไปเกือบครึ่ง
  • วัดผลเทียบ Benchmark  ตั้งแต่เริ่มลงทุน (ส.ค. 59)
    พอร์ต +8.61% vs BM +14.79% แพ้เท่ากับ -6.19%
    ซึ่งเป็นการแพ้สะสมมากขึ้นทุกเดือน

แพ้สะสมเยอะขนาดนี้คงไม่ใช่แค่ผลจากค่าธรรมเนียมแล้ว แต่เป็นผลจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดด้วย

ซึ่งหลักๆ ที่ทำให้แพ้มากมายก็คือการที่ BM ในส่วนของ Foreign Stock นั้น ผมเซ็ทไว้ง่ายๆ เป็นดัชนี S&P500 TRI คือมอง S&P500 เสมือนเป็นทางเลือกที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุด ถ้าจะไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ

แต่ในการลงทุนจริงนั้น ผมใช้วิธีเลือก Region และ Sector เอาเอง โดยคิดว่าจะเลือกได้ดีกว่าการลงทุนง่ายๆ ตาม S&P500 แต่ผลปรากฎว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตั้งแต่ที่เริ่มลงทุนในเดือน ส.ค. 59 มานั้น ดัชนี S&P500 ถือเป็นดัชนีหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนดีอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว ขณะที่หุ้นต่างประเทศใน Region อื่นๆ นั้น ทำได้ไม่ดีเท่า

หากล้างผลการแพ้ชนะในปีเก่าๆ ทิ้งไป เหลือไว้แค่ปี 2018 ก็ยังถือว่าแพ้เยอะอยู่ ดังรูปด้านล่าง

03-2-benchmark

นั่นคือตั้งแต่ต้นปีมานี้ BM กำไร +2.31% แต่พอร์ตขาดทุนไป -0.86% แพ้อยู่ -3.16% ทีเดียว


วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน เม.ย. 61

04-attribution-graph

จากกราฟ Performance Attribution ด้านบน เราสามารถวิเคราะห์ดูสาเหตุได้ครับ ว่าสาเหตุของการแพ้ BM เดือนนี้เกิดจากอะไร

  1. ระดับ Tactical Asset Allocation (TAA)
    • ระดับนี้เราจะยังไม่ดูกอง แต่ดูที่ระดับ Asset ก่อน จะเห็นว่าเดือนนี้ Asset Benchmark ที่เป็น Risky Asset กลับมามีผลตอบแทนเป็นบวก ตั้งแต่ Property +1.58%, Thai Stock +0.79%, Foreign Stock +1.21%
    • ซึ่งในการลงทุนจริงนั้น ผมดัน Underweight ทั้ง 3 Asset ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกไป จึงต้องถือว่าตัดสินใจในระดับ TAA ผิดพลาด
      เพราะถ้าแค่ไม่ต้องคิดอะไร ลงทุนแบบ Neutral Weight ตาม SAA ที่ตั้งไว้ ก็จะกำไรมากกว่านี้แล้ว
  2. ระดับ Fund Selection
    • ในระดับนี้เราจะเจาะเข้ามาดูกองที่เลือกไว้กันว่า เมื่อเทียบกับ Asset BM แล้ว กองทำได้ดีร้ายอย่างไร
    • ในส่วนของกองที่ชนะ Asset BM ก็จะเป็นกองหุ้นไทยทั้งสองกองคือ  BTP และ KFDYNAMIC ซึ่งก็ชนะมานิดหน่อย คือ +1.04% และ +1.37% เทียบกับ Thai Stock BM ที่ +0.79%
    • อีกกองที่ชนะมากแบบพิสดารเลยก็คือ CIMB-PRINCIPAL GIF หลังจากที่ลบไปอยู่ระยะหนึ่ง เดือนนี้กลับมาด้วยการ +7.83%
      เทียบกับ Foreign Stock BM ที่บวกแค่ +1.21%
    • ส่วนกองที่ไม่ได้พูดถึงส่วนใหญ่เดือนนี้ก็แพ้ Asset BM ของตัวมันเอง ได้แก่ TMBPIPF, TMBAGLF, KT-EURO, KF-GTECH

โดยรวมเดือนนี้ในระดับ Fund Selection ผลลัพธ์สุทธิก็น่าจะเจ๊ากัน ระหว่างกองที่เลือกถูก หักล้างกับกองที่เลือกผิด ดังนั้นปัจจัยที่ทำให้พอร์ตโดยรวมแพ้ Portfolio Benchmark ก็จะเกิดจาก TAA เป็นหลัก


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

หากพิจารณาประวัติการปรับพอร์ตของผมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าผมค่อยๆ ปรับน้ำหนักของ Thai Bond ขึ้น และลดน้ำหนักของทั้ง Thai และ Foreign Stock ลง โดยเฉพาะในเดือนที่แล้ว ที่ลดหุ้นเพิ่ม Bond ค่อนข้างเยอะ

05-aa-history

นั่นก็เพราะในเดือนที่แล้ว ดัชนีราคาหุ้นของหลายๆ ตลาด หลุดหรือมีแนวโน้มจะหลุดขาขึ้นระยะยาว เมื่อพิจารณาจากเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ที่ผมชอบใช้ คือ MA 20 Week (100 วัน) และ MA 40 Week (200 วัน)

08-taa-trend

ซึ่งจากตารางด้านบน ปัจจุบันแนวโน้มดังกล่าวก็ยังคงอยู่ แต่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กล่าวคือในหุ้นของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (DM) นั้น ดูเหมือนจะมีทิศทางดีขึ้น คือราคาสามารถยืนเหนือ MA 40 Week ได้ แต่หุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) นั้น กลับยังไม่ได้มีทิศทางดีขึ้นเท่าไรนัก โดยล่าสุดหุ้นไทย ก็หลุดเส้นค่าเฉลี่ย MA 20 Week ซึ่งผมใช้ดูแนวโน้มระยะกลางไปอีกหนึ่งตลาด

สถานการณ์แบบนี้ มันก็เหมือนจุดวัดใจเหมือนกัน เพราะถ้าเข้าไปรับหุ้นเพิ่ม ก็น่าจะถือว่าได้รับในจุดที่ดี คือจุดที่มันย่อลงมาพอดี และยังยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวได้ ลองดูจากกราฟ S&P500 ด้านล่างนะครับ

09-sp500

ถือว่าเป็นจุด Buy-on-Dip ที่น่าสนใจทีเดียว แต่มันก็ยังผิดได้ เพราะถ้าไปๆ มาๆ ดันหลุดแนวโน้มระยะยาว จุดที่ซื้อนี้ก็ถือว่าไม่ใช่จุดที่ถูกจริงๆ อาจจะมีถูกกว่าได้อีก หรืออาจจะถูกกว่ามากๆ เลยก็ได้

พอมาดู Weight ของสินทรัพย์ต่างๆ ในพอร์ต ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีสัดส่วนดังนี้

  • ตราสารหนี้ไทย 34.7% vs SAA = 15% (Over)
  • อสังหา 17.4% vs SAA = 25% (Under)
  • หุ้นไทย 22.1% vs SAA = 30% (Under)
  • หุ้นต่างประเทศ 16.2% vs SAA = 20% (Under)
  • ทองคำ 9.6% vs SAA = 10% (Neutral)

จะเห็นว่าผมก็ค่อนข้าง Underweight หุ้นไว้เยอะ เงินก็พักอยู่ในตราสารหนี้ไทยเสียมาก การซื้อสะสมที่ตรงนี้สักครั้ง ก็คงไม่น่าจะเสียหายอะไรมาก คิดเสียว่าไม่ได้จะซื้อทีเดียว

ผมจึงตัดสินใจปรับพอร์ตดังนี้

07-target-aa

ลองเปรียบเทียบคอลัมน์ Current Asset Allocation กับ Target ใหม่ดูนะครับ จะเห็นว่าผมตัดสินใจเพิ่มหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว (DM) เนื่องจากที่ได้กล่าวไปเมื่อสักครู่ว่าแนวโน้มดูจะดีขึ้น โดยเพิ่มผ่านกอง CIMB-PRINCIPAL GOPP-A ซึ่ง มีนโยบายลงทุนในหุ้นทั่วโลก โดยน้ำหนักส่วนใหญ่ก็อยู่ในหุ้น DM ตามที่อยากลง

แม้กองนี้จะเพิ่งออกมา แต่ถ้าเราไปหา Master Fund Factsheet มาเทียบดูกับกอง Global EQ อื่นๆ กองนี้ก็ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าเลยทีเดียว

โดยในการซื้อก็จะใช้เงินจาก

  • เงินใหม่ประจำเดือน 5,000 บาท ทำรายการซื้อ
  • เงินเก่า ในกอง K-FIXED 10,000 บาท
    โดยทำรายการสับเปลี่ยน เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน
    ระบบซื้อขายกองทุนของ Nomura สามารถสั่งสับเปลี่ยนกองทุน
    ข้าม บลจ. ได้แล้ว (โดยจะเป็นการขายกองต้นทาง และซื้อกองปลายทางให้เองโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องมาแยกสั่งสองครั้งอีกแล้ว)

การซื้อหุ้น DM ผ่าน CIMB-PRINCIPAL GOPP-A เพิ่ม 15,000 บาท ก็จะทำให้สัดส่วนของ Foreign Stock จากเดิม 16.2% เพิ่มมาเป็น 20.8% เปลี่ยนสถานะจากการ Underweight มาเป็น Neutral Weight ในที่สุด

โดยผมทำรายการดังนี้ครับ

06-transaction

รายการบรรทัดแรกเป็นรายการซื้อปกติ ส่วนบรรทัดที่ 2 และ 3 นั้น เป็นรายการสับเปลี่ยน ซึ่งผมสั่งสับเปลี่ยนตามรายละเอียดด้านล่างนี้ครับ

06-2-switch

ซึ่งต้องยอมรับด้วยนะครับ ว่าการสับเปลี่ยนจะไม่ได้เกิดทันที โดยจะต้องรอรับเงินค่าขายคืนจากกองต้นทางก่อน เมื่อได้เมื่อไรระบบจึงจะสั่งซื้อกองปลายทางให้อีกที ดังนั้นมันจะมีช่วงสูญญากาศอยู่ครับ แต่ข้อดีคือไม่ต้องกลัวขายแล้วลืมมาสั่งซื้อกลับ

เดืิอนต่อไปมาลุ้นกันครับ ว่าภาวะตลาดโดยรวมมันจะดีขึ้นมั๊ย เพราะถ้าดีขึ้น ผมก็คิดว่าควรจะค่อยๆ สะสมหุ้นเพิ่มขึ้นอีก แต่ถ้าไม่ดีขึ้น ผมก็ยังเหลือ Cash ในรูปของ Thai Bond อยู่ค่อนข้างมาก ให้ได้รอจังหวะสะสมในจุดที่น่าสนใจ เช่นครั้งนี้ได้อีกเป็นระยะครับ

 


ทิ้งท้ายก่อนจาก

มาดูวิดีโอพัฒนาการของเจ้าของพอร์ตกันพอให้ยิ้มได้ในสถานการณ์ช่วงนี้หน่อยนะครับ ตอนนี้เอเจจะย่างเข้า 1 ปี 7 เดือนแล้วคร้าบ

 

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (มี.ค. 61)

model-portfolio-03-2018

Model Portfolio เดือน มี.ค. 61 

กลับมาพบกับสรุป Model Portfolio ประจำเดือน มี.ค. 61 ซึ่งจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เป็นพอร์ตสำหรับการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
    ของผู้เข้าสัมมนา DIY Portfolio กับ A-Academy
  2. เป็นพอร์ตการลงทุนจริงของลูกสาวผม
    สำหรับเป็นทุนการศึกษาในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า
    ตามแผนที่เขียนไว้ใน หน้านี้

ก่อนอื่น ทุกท่านสามารถดาวโหลดไฟล์สรุปพอร์ตในรูปแบบ Excel ของเดือนนี้ ไปศึกษาอย่างละเอียดโดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ


สถานะพอร์ต ณ 30 มี.ค. 61

01-outstanding

02-performance

  • เดือนนี้พอร์ตมีมูลค่า 315,717.88 บาท
    (รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน 5,000 บาทแล้ว)
  • เดือน มี.ค. 61 ขาดทุน เท่ากับ -5,827.43 บาท หรือ -1.84%
    เป็นการขาดทุนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเดือน ก.พ.
    โดยพอร์ตย่อลงพอๆ กัน
  • ผลตอบแทนสะสมปี 2561 (3 เดือน) พลิกกลับจากกำไรเป็นขาดทุนแล้ว โดย ขาดทุน  -1.32%

03-benchmark

  • วัดผลเทียบ Benchmark เดือน มี.ค. 61
    พอร์ต -1.84%  vs BM -1.42% แพ้ไปนิดหน่อย
    โดยตกไปในทิศทางเดียวกัน
  • วัดผลเทียบ Benchmark  ตั้งแต่เริ่มลงทุน (ส.ค. 59)
    พอร์ต +8.10% vs BM +13.88% แพ้เท่ากับ -5.79%
    ซึ่งถือว่าแพ้เยอะมาก (เจ็บที่ต้องเขียนซ้ำแล้วซ้ำอีก 55)

แพ้สะสมเยอะขนาดนี้คงไม่ใช่แค่ผลจากค่าธรรมเนียมแล้ว แต่เป็นผลจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดด้วย หากล้างผลการแพ้ชนะในปีเก่าๆ ทิ้งไป เหลือไว้แค่ปี 2018 ก็ยังถือว่าแพ้เยอะอยู่ ดังรูปด้านล่าง

03-2-benchmark

นั่นคือตั้งแต่ต้นปีมานี้ BM กำไร +1.49% แต่พอร์ตขาดทุนไป -1.32% แพ้อยู่ -2.82% ทีเดียว


วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน มี.ค. 61

04-attribution-graph

จากกราฟ Performance Attribution ด้านบน จะเห็นว่าสีแดงเป็นแถบยาวเยอะทีเดียว มาวิเคราะห์ดูสาเหตุกันครับ ว่าผลตอบแทนที่แย่ของเดือนนี้ เกิดจากอะไร

  1. ระดับ Tactical Asset Allocation (TAA)
    • ระดับนี้เราจะยังไม่ดูกอง แต่ดูที่ระดับ Asset ก่อน จะเห็นว่าเดือนนี้ Asset Benchmark ที่ติดลบเรียงจากลบมากไปลบน้อย ได้แก่ Foreign Stock -3.61% และ Thai Stock -2.36% ถือเป็นเดือนที่หุ้นตกกันทั่วโลก ซึ่งผม Overweight หุ้นต่างประเทศไว้ ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด
    • ส่วน Property นั้นลบไป -0.14% การตัดสินใจ Underweight ไว้ก็ถือว่าพอใช้ได้
  2. ระดับ Fund Selection
    • เดือนนี้มีกองที่ Underperform ตัว Asset Benchmark เต็มๆ ก็คือ KFDYNAMIC ซึ่งลบไป -7.00% ทั้งๆ ที่ Benchmark คือ SET TRI ลบแค่ -2.36% เท่านั้น ถือว่าทำได้แย่มากทีเดียว (แต่อดีตเค้าก็เคยขึ้นแรงมากมาเช่นกัน นี่แหละหนากองหุ้นกลางเล็ก เวลาจะแกว่งก็แกว่งเสียน่ากลัว)
    • เสียแต้มไปจาก KFDYNAMIC ก็ได้คืนมาจาก BTP บ้าง เพราะเดือนนี้พลิกมาบวกได้ 1.48% แม้หุ้นไทยโดยรวมจะลบ แต่ก็คงชดเชยการติดลบ 7% ของ KFDYNAMIC ไม่ไหว ทำให้โดยรวมถือว่า Fund Selection ในส่วนหุ้นไทยนั้นล้มเหลวในเดือนนี้
    • ส่วนของหุ้นต่างประเทศก็มีเพียงกอง CPAM GIF เท่านั้น ที่ยังพอจะแข็งอยู่บ้าง คือลบแค่ -1.29% เทียบกับ BM ที่ลบมากถึง -3.61%
      ตรงข้ามกับ KF-GTECH ที่โดนหนัก เพราะหุ้นกลุ่ม Tech รับผลกระทบไปตรงๆ จากภาวะตลาดปัจจุบัน ลบไปถึง -7.15%
    • โดยรวมในส่วนของหุ้นต่างประเทศ ก็ถือว่าพอจะกลางๆ ได้บ้าง
      คือเสมอ BM 2 กอง แพ้ 1 กอง ชนะ 1 กอง

สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

สถานการณ์ปัจจุบัน ผมคิดว่าภาวะตลาดหุ้นแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งหากท่านใดติดตามมาตลอด จะเห็นว่า ผมหยุดการนำเงินใหม่เข้าซื้อหุ้นมาได้ 3-4 เดือนแล้ว คือพอมีเงินเข้าใหม่ก็พักไว้ในตราสารหนี้ไทยผ่านกอง K-FIXED มาเรื่อยๆ แต่ยังไม่แตะเงินเก่าในพอร์ต

เดือนนี้จะเป็นเดือนแรกที่ผมตัดสินใจปรับเงินเก่าในพอร์ต ในระดับที่ถือว่าเยอะ หากเทียบกับที่เคยนิ่งๆ มาตลอด โดยผมปรับดังนี้

07-target-aa

ลองเปรียบเทียบคอลัมน์ Current Asset Allocation กับ Target ใหม่ดูนะครับ จะเห็นว่าผมลดหุ้นลงทั้งไทยและเทศ โดยนำเงินที่ลดนั้นไปเพิ่มในส่วนของตราสารหนี้ไทยแทน ส่วนเงินใหม่ 5000 บาท และอีก 564.31 บาทซึ่งเป็นเงินปันผลจากกอง TMBPIPF ที่ได้รับในเดือนที่แล้ว ก็นำไปเติมในตราสารหนี้เช่นกัน

โดยสรุปจะได้ภาพใหญ่ของการปรับพอร์ตดังนี้

  • ตราสารหนี้ไทย 19.6% => 33.8% (เพิ่มขึ้น 14.3%)
  • อสังหา 17.6% ไม่ปรับ
  • หุ้นไทย 28.8% => 22.4% (ลดลง 6.3%)
  • หุ้นต่างประเทศ 24.2% => 16.3% (ลดลง 7.9%)
  • ทองคำ 9.9% ไม่ปรับ

โดยทำรายการซื้อขายดังนี้

06-transaction

ในส่วนของกอง KFDYNAMIC, BTP, TMBAGLF, KT-EURO ที่ขายไป เดี๋ยวพอได้เงินเข้าบัญชี ผมจะค่อยสั่งซื้อเข้าไปพักไว้ใน K-FIXED อีกทีหนึ่งนะครับ

เหตุผลสำคัญที่ผมมองว่าตลาดหุ้นแย่ลงนั้นเพราะราคาหุ้นของหลายๆ ตลาดหลัก ได้หลุดแนวโน้มขาขึ้นในระยะกลาง (ซึ่งผมใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 20 สัปดาห์) และแนวโน้มระยะยาว (ซึ่งผมใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 40 สัปดาห์) มาค่อนข้างต่อเนื่อง ดังตารางด้านล่าง

08-taa-trend

จะเห็นว่าช่วงกลางเดือน (16/3/2018) ก็ยังหลุดกันไม่มาก แต่อีกสองสัปดาห์ถัดมา ก็เริ่มหลุดกันมากขึ้น และปัจจุบันก็ยังหลุดอยู่ โดยเฉพาะถ้าดูข้อมูลล่าสุดเมื่อคืนนี้ (2 เม.ย. 2561) จะเห็นว่าตลาดหลักคือ S&P500 ซึ่งเป็นตลาดหุ้นรายประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็หลุดเส้น MA20W และ MA40W แล้ว ดังรูปด้านล่าง

09-sp500

ซึ่งหากใครได้เรียนในคอร์ส DIY Portfolio ก็น่าจะพอจำได้ว่า ถ้าใครให้น้ำหนักกับแนวทาง Trend Following / Momentum แล้ว นี่ถืิอเป็นสัญญาณที่ต้องระวัง ยิ่งเมื่อเกิดกับตลาดใหญ่ๆ ของโลก หลายตลาด ก็อาจมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นอื่นๆ ด้วย ทำให้ผมตัดสินใจที่จะปรับลดพอร์ตลงค่อนข้างมากในครั้งนี้

แต่อย่าลืมนะครับ คำว่าปรับลดของผม ไม่ได้หมายถึงการอพยพเงิน จนทำให้กลายเป็นการเก็งกำไรเข้าออก แต่ยังคงหมายถึงการลงทุนเป็นพอร์ตอยู่ จะสังเกตว่าแม้หลังปรับพอร์ตแล้ว พอร์ตผมก็ยังคงความ Diversified และลงทุนใน Global Multi-Asset อยู่ดี เพียงแต่มีสถานะตั้ง Guard รับมือกับความเสี่ยงมากขึ้น

ซึ่งถ้าตลาดลงต่อ พอร์ตก็จะเสียหายน้อยกว่าการไม่ทำอะไร แต่ถ้าตลาดไม่ลงต่อ ผมก็จะไม่ได้พลาดถึงขนาดที่จะรู้สึกเสียดายมากมาย และยังสามารถโยกเงินที่ออกไป กลับมาลงทุนต่อได้ไม่ยาก ซึ่งก็ต้องลุ้นกันในเดือนถัดๆ ไป


ทิ้งท้ายก่อนจาก

พยายามหารูปและวิดีโอของลูกที่จะช่วยทำให้ผ่อนคลาย ยิ้มได้มาแปะช่วงท้าย แต่เดือนนี้เก็บรูปและวิดีโอไว้น้อย เลยมีมาแบ่งปันรอยยิ้มกันประมาณนี้นะครับ

img_20180330_174427__01

img_20180330_172936

img_20180326_151949_bokeh

img_20180326_074554

 

สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (ก.พ. 61)

model-portfolio-02-2018

Model Portfolio เดือน ก.พ. 61 

กลับมาพบกับสรุป Model Portfolio ประจำเดือน ก.พ. 61 ซึ่งจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทั้ง…

  1. พอร์ตสำหรับการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
    ของผู้เข้าสัมมนา DIY Portfolio กับ A-Academy
  2. พอร์ตการลงทุนจริงของลูกสาวผม
    สำหรับเป็นทุนการศึกษาในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า
    ตามแผนที่เขียนไว้ใน หน้านี้

ก่อนอื่น ทุกท่านสามารถดาวโหลดไฟล์สรุปพอร์ตในรูปแบบ Excel ของเดือนนี้ ไปศึกษาอย่างละเอียดโดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ


สถานะพอร์ต ณ 28 ก.พ. 61

01-outstanding

02-performance

  • เดือนนี้พอร์ตมีมูลค่า 316,545.31 บาท
    (รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน 5,000 บาทแล้ว)
  • เดือน ก.พ. 61 ขาดทุน เท่ากับ -5,873.74 บาท หรือ -1.85%
  • ผลตอบแทนสะสมปี 2561 (2 เดือน) ยังมี กำไร +0.53%

03-benchmark

  • วัดผลเทียบ Benchmark เดือน ก.พ. 61
    พอร์ต -1.85%  vs BM -0.41% ถือว่าแพ้ค่อนข้างมาก
    คือแม้จะตกเหมือนกัน แต่พอร์ตตกมากกว่าเยอะเลย
  • วัดผลเทียบ Benchmark  ตั้งแต่เริ่มลงทุน (ส.ค. 59)
    พอร์ต +10.12% vs BM +15.52% แพ้เท่ากับ -5.40%
    ซึ่งถือว่าแพ้เยอะมาก

แพ้สะสมเยอะขนาดนี้คงไม่ใช่แค่ผลจากค่าธรรมเนียมแล้ว แต่เป็นผลจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดด้วย หากล้างผลการแพ้ชนะในปีเก่าๆ ทิ้งไป เหลือไว้แค่ปี 2018 ก็ยังถือว่าแพ้เยอะอยู่ ดังรูปด้านล่าง

03-2-benchmark

นั่นคือตั้งแต่ต้นปีมานี้ BM กำไร +2.95% แต่พอร์ตกำไรแค่ +0.53% แพ้อยู่ -2.43% ทีเดียว


วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน ก.พ. 61

04-attribution-graph

ในเดือน ก.พ. 61 นี้ ผลตอบแทนของพอร์ตจริงได้น้อยกว่า Benchmark ค่อนข้างมาก เรามาวิเคราะห์ดูสาเหตุกันครับ ว่าเกิดจากอะไร

  1. ระดับ Tactical Asset Allocation (TAA)
    • สัดส่วนสินทรัพย์ต่างๆ ณ ปัจจุบันค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ Neutral แล้ว คือไม่ได้มีการ Take Active Decision ด้วยการลดหรือเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์ใดมากเป็นพิเศษ ยกเว้น…
    • Foreign Stock ที่ยังมีการ Overweight อยู่ ซึ่งหากพิจารณา Foreign Stock Benchmark ซึ่งในเดือนที่แล้วมีการปรับฐาน ลดลงอย่างรุนแรง  แม้ท้ายเดือนจะดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยัง -2.56%  ซึ่งหากเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดในพอร์ต ก็ถือว่าลบเยอะสุด ดังนั้นการที่ผมตัดสินใจ Overweight Foreign Stock เอาไว้ แล้วลบเยอะสุด ก็ถือว่าผลลัพธ์ของการตัดสินใจนั้นออกมาไม่ดี
    • Property ที่ Underweight  เอาไว้ กลายเป็นว่าเดือนนี้ให้ผลตอบแทนสูงสุดเลยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น คือ +0.56% ก็เท่ากับว่าผมลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี ก็นับว่าผิดอีก
    • โดยรวม เดือนนี้ TAA Weight ของผมผิดพลาด เพราะดันไปเพิ่มน้ำหนักสินทรัพย์ที่ขาดทุนเยอะ และลดน้ำหนักสินทรัพย์ที่มีกำไรดี
  2. ระดับ Fund Selection
    • เดือนนี้นอกจาก Tactical Allocation จะพลาดแล้ว Fund Selection ก็พลาดด้วย เพราะกองทุนเกือบทุกกองที่ลงทุนไว้ ให้ผลตอบแทนด้อยกว่า Asset Benchmark ของตัวมันเองทั้งสิ้น ได้แก่
    • TMBPIPF แพ้ให้กับ Property Benchmark ซึ่งผมใช้กอง M-PROPERTY เป็นเกณฑ์มาตรฐาน
    • BTP, KFDYNAMIC แพ้ให้กับ Thai Stock Benchmark ซึ่งผมใช้ SET TRI เป็นเกณฑ์มาตรฐาน
    • TMBAFLF, KT-EURO, CPAM GIF แพ้ให้กับ Foreign Stock Benchmark ซึ่งผมใช้ S&P500 TRI เป็นเกณฑ์มาตรฐาน
    • เดือนนี้มีเพียง KF-GTECH เท่านั้นที่เป็นกองที่ทำได้ดีกว่า Asset Benchmark

โดยรวมแล้วพอร์ตเดือนนี้ จึงประสบกับเคราะห์กรรมในระดับ “ซวยกำลังสอง” นั่นคือ Tactical ก็ผิด แล้วส่วนที่ผิดก็ยังเสียหายมากกว่าปกติอีกต่างหาก T_T


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

มุมมองผมยังค่อนข้างเหมือนกับเดือนที่ผ่านมามากๆๆ ดังนั้นขอ Copy ข้อความของเดือนก่อนมาให้อ่านกันเลยนะครับ

ถ้าใครได้ติดตามอัพเดทพอร์ตในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าผมอยู่ในระหว่างการปรับพอร์ตเข้าสู่ค่ากลางคือเป็นสัดส่วนที่ไม่ Overweight หรือไม่ Underweight สินทรัพย์อะไรมากเกินไป โดยเฉพาะหุ้นที่แม้จะขึ้นมาร้อนแรง แต่ผมก็ไม่กล้าจะเพิ่มน้ำหนักเข้าไปให้มันแล้ว

เพราะหากดู Valuation หรือระดับความถูกแพง ก็ต้องบอกว่าแทบไม่มีตลาดหุ้นไหนที่เรียกว่า “ถูก” จะมีก็แค่ที่ไหน “ถูกกว่า” ที่ไหนเท่านั้น แต่ถ้ามองแบบสัมบูรณ์ (Absolute) แล้ว ก็ดูจะแพงไปเสียทั้งหมด นั่นเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ควรกระหยิ่ม เติมน้ำหนักเข้าไปในหุ้นอีก ณ ตอนนี้

แต่หากดู Momentum หรือ Trend ของราคาสินทรัพย์แล้ว สินทรัพย์แทบทุกประเภทก็ยังอยู่ในขาขึ้นอยู่ นั่นคือเราจะหนีไม่ลงสินทรัพย์เสี่ยงเลยมันก็ไม่ใช่เหมือนกัน

Neutral Position จึงเป็นสถานะพอร์ตที่ผมเลือก ซึ่งก็อาจจะผิดหรือถูกก็ได้ แต่ยังไงก็ต้องเลือกจริงมั๊ยครับ

ซึ่งเดือน ก.พ. ตลอดทั้งเดือน ผมว่าก็เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่ง ว่าตลาดสินทรัพย์ต่างๆ มีความอ่อนไหวมากเพียงใด เพราะเดือน ก.พ. นี้ราคาสินทรัพย์ค่อนข้างผันผวนมาก ขึ้นก็ไม่มาก และสักพักก็ลง สลับกันไป โดยเฉพาะในส่วนของหุ้นต่างประเทศ ที่มีวันที่หุ้นลงมากกว่าวันที่ขึ้น

และข้อมูล ณ ปัจจุบันผมก็พบว่ามีดัชนีของตลาดหุ้นบางตลาดได้ปรับตัวลงมาทดสอบแนวรับ หากพิจารณาจากเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วันกันบ้างแล้ว เช่นดัชนี Nikkei 225, Shanghai Composite และหุ้นยุโรปบางดัชนี ซึ่งหากหลุดแนวรับสำคัญนี้ ก็อาจจะเรียกว่าเข้าสู่แนวโน้มขาลง ก็ยิ่งจะเพิ่มความอ่อนไหวให้หุ้นทุกๆ ตลาดมากเข้าไปใหญ่

แต่ในทางกลับกัน อีกหลายๆ ตลาดก็ยังไม่ได้ลงมาลึกมากขนาดนี้ โดยหากมองแนวโน้มราคาระยะยาวก็ยังอยู่ในเทรนด์ขาขึ้นอยู่ และทางฟากเศรษฐกิจจริงที่ไม่เกี่ยวกับตลาดการลงทุน ก็ดูเหมือนว่าจะมีการเติบโตอยู่ ดังนั้นจะกลัวจนเลิกเลยมันก็ยังไม่ใช่อีก

ดังนั้น สำหรับภาวะที่ไม่รู้จะเอายังไงดี ผมก็ยังขอ Take Neutral Position คือการจัดพอร์ตให้ใกล้เคียงกับสัดส่วนตามแผนระยะยาว (Strategic Asset Allocation) เอาไว้ก่อน ซึ่ง ณ ตอนนี้

  • สัดส่วนหุ้นไทย ถือว่าใกล้เคียงแล้ว (ปัจจุบัน 29.6% แผน 30.0%)
  • หุ้นต่างประเทศเกิน (ปัจจุบัน 25.1% แผน 20.0%)
  • อสังหายังขาด (ปัจจุบัน 17.6% แผน 25.0%)
    แต่ก็เชื่อกันว่าหากดอกเบี้ยขึ้นแรงๆ กองอสังหาอาจจะทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นผมจึงยอมให้ขาดต่อไป
  • ทองคำมีไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงเป็นหลัก (ปัจจุบัน 9.8% แผน 10.0%) ก็ถือว่าโอเคแล้ว

ดังนั้นเดือนนี้เมื่อมีเงินเข้าใหม่ ผมจึงเลือกเอาไปพักไว้ในตราสารหนี้ไทย (ซึ่งใช้เป็นเสมือนเงินสด) เหมือนเดือนก่อนๆ ซึ่งในที่นี้ ผมนำเงินใหม่ 5,000 บาท ไปลงทุนในกอง K-FIXED ที่มีอยู่ในพอร์ตอยู่เดิม โดยยังไม่พิจารณาไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอะไรเพิ่มเติม

ด้านล่างนี้คือรายการที่ผมส่งคำสั่งเข้าไปครับ

06-transaction

ไว้เดือนต่อไปมาดูกันครับ ว่าพอร์ตจะเป็นยังไง


ทิ้งท้ายก่อนจาก

เดือนนี้พอร์ตขาดทุน ตลาดผันผวน ถือว่าทำให้เครียดได้พอประมาณ เรามาพักชมวิดีโอสาวน้อยเจ้าของพอร์ตนี้ เพื่อเรียกรอยยิ้มกันสักหน่อยนะครับ

ล่าสุดเธอเริ่มจะ Dance เป็นแล้ว พาไปเล่นกับหนุ่มไม่สนหนุ่มเลย ได้ยินเสียงเพลง เดินไป Dance เฉย อิอิ