สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (มิ.ย. 62)

model-portfolio-2019-06

พอร์ตสาธิต เดือน มิ.ย. 62

กลับมาพบกับสรุปพอร์ตสาธิตประจำเดือน มิ.ย. 62 กันนะครับ

พอร์ตสาธิตนี้จัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์คือ

  1. เป็นพอร์ตสำหรับการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
    ของผู้เข้าสัมมนา DIY Portfolio กับ A-Academy
    (ดังนั้นถ้าบางท่านอ่านไม่รู้เรื่อง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเนื้อหาเหล่านี้
    ผมสอนไว้ในหลักสูตร DIY ซึ่งไม่ได้มีวิดีโอให้ดูใน YouTube นะครับ)
  2. เป็นพอร์ตที่ตั้งใจจะสาธิตการตัดสินใจลงทุนแบบ Active ในหลายๆ มิติ เช่น Tactical Asset Allocation และ Fund Selection โดยพร้อมรับความเสี่ยงกรณีที่มีการตัดสินใจผิดพลาด (พอร์ตหลักอื่นๆ ของผม รวมทั้งพอร์ตของลูกค้า Avenger Planner ส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้ตัดสินใจ Active ลักษณะเดียวกันกับพอร์ตนี้)
  3. เป็นพอร์ตการลงทุนจริงของลูกสาวผม
    สำหรับเป็นทุนการศึกษาในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า
    ตามแผนที่เขียนไว้ใน หน้านี้

ก่อนอื่น ทุกท่านสามารถดาวโหลดไฟล์สรุปพอร์ตในรูปแบบ Excel ของเดือนนี้ ไปศึกษาอย่างละเอียดโดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ


สถานะพอร์ต ณ 28 มิ.ย. 62

01-outstanding

02-performance

  • เดือนนี้พอร์ตมีมูลค่า 399,225.13 บาท
    (รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน 5,000 บาทแล้ว)
  • เดือน มิ.ย. 62 กำไร เท่ากับ 17,904.70  บาท หรือ +4.76%
    โดยถือเป็นการบวกกลับมาค่อนข้างแรง จากเดือนก่อนที่ย่อลงไป

03-benchmark

  • วัดผลเทียบ Benchmark เดือน มิ.ย. 62
    พอร์ต +4.76% vs BM +6.22% แพ้ Benchmark อยู่ -1.46%
  • วัดผลเทียบ Benchmark  ตั้งแต่เริ่มลงทุน (ส.ค. 59)
    พอร์ต +9.98% vs BM +28.09% แพ้เท่ากับ -18.11%

หากพิจารณาตั้งแต่เริ่มลงทุน จะถือเป็นการแพ้สะสมที่สูงมาก ซึ่งก็เกิดจากเหตุผลหลักๆ คือ

  1. เลือกกองทุนผิด (Selection)
  2. ปรับพอร์ตระยะสั้น-กลางผิด (TAA)
  3. เสียค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย และค่าบริหารกองทุน
  4. การเลือก Benchmark ที่ไม่เหมาะสม (ปัจจุบันแก้ไขให้เหมาะสมแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา)

ในส่วนของ Benchmark นั้น หากล้างผลการแพ้ชนะในปีเก่าๆ ทิ้งไป เหลือไว้แค่ปี 2019 ก็จะดูเข้าใจง่ายขึ้น ดังรูปด้านล่าง

03-2-benchmark

นั่นคือตั้งแต่ต้นปีมานี้ BM กำไร +14.50% แต่พอร์ตกำไรแค่ +8.20% แพ้อยู่ -6.30% ซึ่งถือเป็นการแพ้ BM ต่อเนื่องเป็นเดือนที่หกนับตั้งแต่เริ่มปี 2019 มา

สาเหตุของการแพ้เดือนล่าสุดคืออะไร ในหัวข้อต่อไป จะมีคำตอบให้ครับ


วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน มิ.ย. 62

slide1

จากกราฟ Performance Attribution (อย่างง่าย) ด้านบน เราสามารถวิเคราะห์ดูสาเหตุได้ครับ ว่าสาเหตุของการที่พอร์ตแพ้ BM ในเดือนนี้นั้น เกิดจากอะไร

  1. ระดับ Tactical Asset Allocation (TAA)
  • ระดับนี้เราจะยังไม่ดูกอง แต่ดูที่ระดับ Asset ก่อน จะเห็นว่าเดือนนี้ Asset Benchmark ทั้งหมดปรับตัวบวกแรงมากๆ  เรียกได้ว่าเดือนนี้ลงสินทรัพย์อะไรก็กำไรหมด
  • สรุปผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ในเดือน มิ.ย. 62 เป็นดังนี้
    • ตราสารหนี้ไทย +0.29%
    • อสังหาไทย +8.98% 
    • หุ้นไทย +6.73%
    • หุ้นต่างประเทศ +5.05% 
    • ทองคำ +9.04%
  • ซึ่งจากสถานะพอร์ตในเดือน มิ.ย. 62 ที่มีการ Underweight หุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศไว้ ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะเดือนนี้หุ้นทั้งสองกลุ่มปรับขึ้นแรง
  • ในส่วนของอสังหาฯ ซึงมีการ Overweight ไว้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะเดือนนี้อสังหาฯ ปรับขึ้นแรงมาก แพ้เพียงทองคำเล็กน้อยเท่านั้น

2. ระดับ Fund Selection

  • ในระดับนี้เราจะเจาะเข้ามาดูกองที่เลือกไว้กันว่า เมื่อเทียบกับ Asset BM แล้ว กองทำได้ดีร้ายอย่างไร
  • หากอ่านที่คอลัมน์ Selection จะเห็นว่าเดือนนี้มีกองที่ Overperformed ตัว Asset BM อยู่เพียง 2 กอง นั่นคือ TMBABF และ ASP-ASIAN
  • ขณะที่มีกองที่ Underperformed อยู่ 4 กอง ได้แก่ PRINCIPAL iPROP-A, KFDYNAMIC, PRINCIPAL GOPP-A และ PRINCIPAL GIF
  • โดยมีกองที่ผลตอบแทนเสมอหรือใกล้เคียง BM 2 กองได้แก่ 1AMSET50-RA และ TMBGOLDS
  • โดยสรุปในระดับ Fund Selection นี้ก็ถือว่าผิดมากกว่าถูก

โดยรวมแล้ว ก็ถือว่าทำได้ไม่ค่อยดีในทั้งสองระดับ

ซึ่งต้องขอ Remark ไว้ตัวใหญ่ๆ ว่า นี่เป็นเพียงการอ่านผลรายเดือน ซึ่งก็สะท้อนแค่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ เท่านั้น ผมนำมันมาใช้ตัดสินใจบ้างก็เพียงเล็กน้อย ส่วนในการตัดสินใจปรับพอร์ต จะใช้การประเมินโดยเน้นการมองไปข้างหน้า (Forward-Looking) เป็นหลัก


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

หากลองมองย้อนไปดูสถานการณ์การลงทุนในช่วง 3 เดือนมานี้ จะเห็นว่าพลิกไปพลิกมาแบบสลับขั้วเลยนะครับ

ผมเองก็ตัดสินใจปรับพอร์ตสาธิตนี้แบบคนใจโลเลไปด้วย ดังนี้

  • เม.ย. 62 : ภาวะตลาดดีมาก => ผมเพิ่มสินทรัพย์เสี่ยง
  • พ.ค. 62 : ภาวะตลาดแย่ลงมาก => ผมลดสินทรัพย์เสี่ยง
  • มิ.ย. 62 : ภาวะตลาดกลับมาดีมากอีกแล้ว

ซึ่งในเดือน มิ.ย. นี้ แนวโน้มราคาสินทรัพย์แทบทั้งหมด พลิกกลับมาเป็นขาขึ้นได้อีกครั้ง ข่าวสารต่างๆ ก็ค่อนข้าง Support เช่นแนวโน้มดอกเบี้ยที่เปลี่ยนมาเป็นขาลง (อีกแล้ว) และการพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และ จีน ที่ทุเลาลง

แต่ยังไงเสีย แม้สถานการณ์จะดีขึ้น ผมคิดว่าผมจะไม่ปรับสัดส่วนพอร์ตแบบมีนัยยะแล้วในเดือนนี้ เพราะเห็นว่าราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นมามากแล้วเหมือนกัน

ยังพอใจกับสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ต ณ ตอนนี้ ที่ Overweight ตราสารหนี้ + อสังหา และ Underweight หุ้นไทย + หุ้นเทศ เอาไว้

ดังนั้น การปรับพอร์ตเดือนนี้ ก็เลยจะเป็นแค่การปรับพอร์ตเงินใหม่ 5,000 บาท ที่ออมเพิ่มเข้ามาเท่านั้น ซึ่งผมตัดสินใจนำไปซื้อกอง PRINCIPAL-GOPP-A ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว

เนื่องจากเงินใหม่นี้ คิดเป็นแค่ 1.3% ของพอร์ต ซึ่งก็จะไม่ได้ทำให้โครงสร้างสินทรัพย์ในพอร์ตเปลี่ยนไปมากมายนัก

การเปลี่ยนแปลงจะเป็นดังตารางด้านล่างนี้

rebalance

นั่นคือหลังเข้าซื้อ สัดส่วน Asset Allocation ของพอร์ต ก็จะกลายเป็น

  • ตราสารหนี้ไทย 20.2%
  • อสังหาฯ 27.9%
  • หุ้นไทย 23.8%
  • หุ้นเทศ 17.2%
  • ทองคำ 10.9%