สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (ก.ย. 62)

model-portfolio-2019-09

พอร์ตสาธิต เดือน ก.ย. 62

กลับมาพบกับสรุปพอร์ตสาธิตประจำเดือน ก.ย. 62 กันนะครับ

พอร์ตสาธิตนี้จัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์คือ

  1. เป็นพอร์ตสำหรับการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
    ของผู้เข้าสัมมนา DIY Portfolio กับ A-Academy
    (ดังนั้นถ้าบางท่านอ่านไม่รู้เรื่อง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเนื้อหาเหล่านี้
    ผมสอนไว้ในหลักสูตร DIY ซึ่งไม่ได้มีวิดีโอให้ดูใน YouTube นะครับ)
  2. เป็นพอร์ตที่ตั้งใจจะสาธิตการตัดสินใจลงทุนแบบ Active ในหลายๆ มิติ เช่น Tactical Asset Allocation และ Fund Selection โดยพร้อมรับความเสี่ยงกรณีที่มีการตัดสินใจผิดพลาด (พอร์ตหลักอื่นๆ ของผม รวมทั้งพอร์ตของลูกค้า Avenger Planner ส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้ตัดสินใจ Active ลักษณะเดียวกันกับพอร์ตนี้)
  3. เป็นพอร์ตการลงทุนจริงของลูกสาวผม
    สำหรับเป็นทุนการศึกษาในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า
    ตามแผนที่เขียนไว้ใน หน้านี้

สถานะพอร์ต ณ 30 ก.ย. 62

ทุกท่านสามารถดาวโหลดไฟล์สรุปพอร์ตในรูปแบบ Excel ของเดือนนี้ ไปศึกษาอย่างละเอียดโดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ

01-outstanding

02-performance

  • เดือนนี้พอร์ตมีมูลค่า 415,083.47 บาท
    (รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน 5,000 บาทแล้ว)
  • เดือน ก.ย. 62 กำไร เท่ากับ 245.75  บาท หรือ +0.06%
  • ตั้งแต่ต้นปี 62 (9 เดือน) กำไร เท่ากับ 29,860.83 บาท หรือ +8.43%

03-benchmark

  • วัดผลเทียบ Benchmark เดือน ก.ย. 62
    พอร์ต +0.06% vs BM +0.71% แพ้ Benchmark อยู่ -0.65%
  • วัดผลเทียบ Benchmark  ตั้งแต่เริ่มลงทุน (ส.ค. 59)
    พอร์ต +10.22% vs BM +30.36% แพ้เท่ากับ -20.15%

หากพิจารณาตั้งแต่เริ่มลงทุน จะถือเป็นการแพ้สะสมที่สูงมาก ซึ่งก็เกิดจากเหตุผลหลักๆ คือ

  1. เลือกกองทุนผิด (Selection)
  2. ปรับพอร์ตระยะสั้น-กลางผิด (TAA)
  3. เสียค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย และค่าบริหารกองทุน
  4. การเลือก Benchmark ที่ไม่เหมาะสม (ปัจจุบันแก้ไขให้เหมาะสมแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา)

ในส่วนของ Benchmark นั้น หากล้างผลการแพ้ชนะในปีเก่าๆ ทิ้งไป เหลือไว้แค่ปี 2019 ก็จะดูเข้าใจง่ายขึ้น ดังรูปด้านล่าง

03-2-benchmark

นั่นคือตั้งแต่ต้นปีมานี้ BM กำไร +16.53% แต่พอร์ตกำไรแค่ +8.43% แพ้อยู่ -8.10%

สาเหตุของการแพ้ BM เดือนล่าสุดคืออะไร ในหัวข้อต่อไป จะมีคำตอบให้ครับ


วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน ก.ย. 62

slide1

จากกราฟ Performance Attribution (อย่างง่าย) ด้านบน เราสามารถวิเคราะห์ดูสาเหตุได้ครับ ว่าสาเหตุของการที่พอร์ตแพ้ BM ในเดือนนี้นั้น เกิดจากอะไร

  1. ระดับ Tactical Asset Allocation (TAA)
  • ระดับนี้เราจะยังไม่ดูกอง แต่ดูที่ระดับ Asset ก่อน โดยเดือนนี้มีหุ้นไทย และทองคำที่ปรับตัวลดลง ขณะที่สินทรัพย์อื่นปรับตัวขึ้น
  • สรุปผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ในเดือน ก.ย. 62 เป็นดังนี้
    • ตราสารหนี้ไทย +0.10%
    • อสังหาไทย +3.70%
    • หุ้นไทย -0.88%
    • หุ้นต่างประเทศ +1.43%
    • ทองคำ -2.55%
  • ซึ่งในเดือน ก.ย. 62  ผมมีการ Overweight อสังหาฯ และ Underweight หุ้นไทยไว้ ซึ่งก็ถือว่าทำได้ถูกต้อง เพราะอสังหาฯ ยังบวกต่อ ส่วนหุ้นไทยก็ตก
  • ขณะที่ผมมีการ Underweight หุ้นต่างประเทศไว้ ก็ถือว่าตัดสินใจผิดเพราะในเดือนนี้หุ้นต่างประเทศให้ผลตอบแทนเป็นบวก
  • โดยสรุปในระดับของ TAA นี้ ผมถือว่าตัวเองคิดถูกมากกว่าผิดนะครับ ส่วนเหตุผลที่ทำให้แพ้ Benchmark เยอะ ก็ยังคงเป็นเรื่องของ Fund Selection ในหัวข้อต่อไปเช่นเดิม

2. ระดับ Fund Selection

  • ในระดับนี้เราจะเจาะเข้ามาดูกองที่เลือกไว้กันว่า เมื่อเทียบกับ Asset BM แล้ว กองทำได้ดีร้ายอย่างไร
  • หากอ่านที่คอลัมน์ Selection จะเห็นว่าเดือนนี้มีกองที่ Overperformed ตัว Asset BM อยู่เพียง 1 กองคือ ASP-ASIAN
  • ขณะที่มีกองที่ Underperformed อยู่ 5 กอง ซึ่งแปลว่าแพ้มากกว่าชนะมาก

ซึ่งกองที่แพ้นั้นหลักๆ ก็แพ้เพราะเหตุผลต่อไปนี้

  • อสังหาฯ ผมเลือกใช้ iPROP-A ซึ่งเป็นอสังหา ไทย + สิงคโปร์ แต่ BM นั้นคือดัชนี SET PF&REIT TRI ซึ่งเป็นอสังหาไทยล้วน และในปีนี้อสังหาฯ ไทยล้วน ให้ผลตอบแทนดีกว่าอสังหาฯ ไทย+สิงคโปร์มากพอสมควร
  • หุ้นไทย ผมยังคงมีหุ้นใหญ่ 1AMSET50-RA ผสมกับหุ้นกลางเล็ก KFDYNAMIC ซึ่งปรากฎว่าปีนี้ หุ้นกลางเล็กก็ยังทำผลตอบแทนได้ไม่ดีเท่ากับหุ้นใหญ่ ทำให้การมี KFDYNAMIC เป็นการหน่วงพอร์ตส่วนหุ้นไทย ไม่ให้โตได้ดีเท่าที่ควร
  • หุ้นต่างประเทศ  Benchmark ที่ผมใช้เป็นตัวแทนหุ้นต่างประเทศคือดัชนี S&P500 TRI ซึ่งปีนี้ก็ยังถือว่าเป็นดัชนีหุ้นที่เติบโตขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่กองที่ผมเลือกใช้ ไม่ได้ลงทุนใน S&P500 แต่เป็นหุ้นของภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ผลตอบแทนจริงที่ได้ ด้อยกว่า Benchmark

ซึ่งต้องขอ Remark ไว้ตัวใหญ่ๆ ว่า นี่เป็นเพียงการอ่านผลรายเดือน ซึ่งก็สะท้อนแค่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ เท่านั้น ผมนำมันมาใช้ตัดสินใจบ้างก็เพียงเล็กน้อย ส่วนในการตัดสินใจปรับพอร์ต จะใช้การประเมินภาพรวมถึงสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเหมาะสมสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง

เช่น แม้กองอสังหาฯ ไทยล้วน จะให้ผลตอบแทนในปีนี้ดีกว่าอสังหาฯ ที่ผสมสิงคโปร์ด้วย แต่ผมก็ยังยืนยันที่จะถืออสังหาฯ ไทย + สิงคโปร์ต่อไป เพราะเป็นกองที่สภาพคล่องดีกว่า และมีการกระจายการลงทุนที่มากกว่า ซึ่งในยามที่กองอสังหาฯ ไทยล้วนๆ มีปัญหา กองที่ผสมสิงคโปร์ด้วยน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เป็นต้น


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 62 ที่ผ่านมา ผมตัดสินใจคงพอร์ตไว้ ในสถานะ Underweight หุ้น ทั้งไทยและต่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะฝั่งที่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานนั้นดูไม่ค่อยดี มีทั้ง

  • การปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ
  • การปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทในตลาดหุ้น
  • บทสรุปของประเด็น Trade War, Brexit และการชุมนุมในฮ่องกง ที่ยังสรุปไม่ได้
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ต่ำลงกว่าพันธบัตรระยะสั้น จนเกิดภาวะที่เรียกว่า Inverted Yield Curve (IYC) ซึ่งมักสะท้อนความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ และอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Recession) ตามมาในภายหลัง

ปัจจัยบวกที่พอจะมีบ้างก็คือการที่ธนาคารกลางต่างๆ มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อรับมือกับสัญญาณทางเศรษฐกิจที่แย่ลง

แต่อย่างไรเสีย ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ ปัจจุบันซึ่งก็อยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว ผมเองคิดว่า ต่อให้ Central Bank ยังมีกระสุนสำหรับใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ก็อาจทำได้จำกัด

ในส่วนของส่วนทิศทางราคาสินทรัพย์นั้น หากดูจากตารางด้านล่างนี้ ซึ่งเป็นสรุปแนวโน้มราคาสินทรัพย์ ณ สิ้นสัปดาห์ 27 ก.ย. 62

trend-summary

ก็จะเห็นว่าแนวโน้มราคาสินทรัพย์ ณ ปัจจุบัน อยู่ในทิศทางที่ผสมกัน โดยหุ้นในฝั่งประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งหุ้นไทย ยังอยู่ในทิศทางขาลง ส่วนหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่ก็กำลังอ่อนแรงลง

ทองคำและอสังหาฯ ยังคงรักษาแนวโน้มราคาขาขึ้นไว้ได้ แต่ก็มีลักษณะที่อ่อนแรงลงในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของเดือน ก.ย. 62 เช่นกัน

จากการประมวลปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ผมคิดว่าเดือนนี้ จะลดสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตสาธิตนี้ลงไปอีก โดยจะ

  1. ลดหุ้นไทยกอง KFDYNAMIC ซึ่งเป็นหุ้นขนาดกลาง-เล็กลง 20,000 บาท หรือราวๆ 5% ของพอร์ต โดยนำไปพักในกองตราสารหนี้ TMBABF ไว้ก่อน
  2. ส่วนเงินใหม่ 5,000 บาท ก็จะนำไปพักใน TMBABF เช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตกรณีที่ตลาดแย่ ขณะเดียวกันก็เป็นการสะสมกระสุนในรูปของสินทรัพย์เสี่ยงต่ำไว้ เพื่อใช้ลงทุนในช่วงที่เหมาะสม

โดยสัดส่วนการลงทุนจะเปลี่ยนไปดังตารางต่อไปนี้

06-rebalance

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *