สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (ส.ค. 60)

model-portfolio-08-2017

Model Portfolio เดือน ส.ค. 60

เดือนนี้ถือเป็นเดือนครบรอบ 1 ปี ของการลงทุนในพอร์ตตัวอย่างพอร์ตนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นพอร์ตตัวอย่าง เพื่อฝึกการตัดสินใจและฝึกการวัดและประเมินผลสำหรับผู้ที่เรียนหลักสูตร DIY Portfolio แล้ว

พอร์ตนี้ก็ยังเป็นพอร์ตเงินจริงที่ผมจะมอบให้กับลูกสาวของผมในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้าด้วย (ตามที่เคยได้เขียนรายละเอียดไปเมื่อตอนเริ่มต้นลงทุนที่ โพสนี้ )

ถือว่าปิดเดือนที่ 12 ของการลงทุนได้ด้วยดี คือได้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยเดือนนี้พอร์ต +1.37% แต่ก็อาจไม่ดีนักเพราะแพ้ Benchmark ของพอร์ตซึ่งได้ถึง +1.92%

ถือเป็นเดือนที่สินทรัพย์ต่างๆ ให้ผลตอบแทนดีมากๆ เพราะนอกจากหุ้นต่างประเทศท่ี่ลบหน่อยๆ แล้ว ทุกสินทรัพย์ก็ให้ผลตอบแทนเป็นบวกหมด โดยเฉพาะการฟื้นตัวขึ้นมาของสินทรัพย์ไทย ซึ่งทั้ง Property และ Thai Stock ดีดขึ้นมาแรงถึงกว่า 3% ในเดือนเดียว

อ๊ะๆ… แต่โดยธรรมเนียมก่อนจะไปดูรายละเอียดกัน มาอัพเดทการเจริญเติบโตของเอเจ ลูกสาวผม เจ้าของพอร์ตตัวจริงกันก่อนสิว่าน่ารักขนาดไหนแล้ว

aj-10-5-month

ตอนนี้หนูย่าง 11 เดือนแล้วนะคะ เริ่มมีแววเป็นหญิงบ้างแล้ว จากที่ถูกทักว่า ‘หล่อเหมือนพ่อ” มาตลอด อิอิอิ


สถานะพอร์ต ณ 31 ส.ค. 60

ก่อนอื่นดาวโหลดไฟล์ Excel เดือนนี้ ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน โดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ

01-outstanding

02-performance

จากตารางด้านบน เมื่อรวมเงินใหม่ที่เพิ่งใส่เข้าไปช่วงสิ้นเดือน มูลค่าพอร์ต ณ วันที่ 31 ส.ค. 60 จะเท่ากับ 268,619.76 บาท โดยมี กำไรสะสมมาแล้วคือ 8,619.76 บาท หรือคิดเป็นประมาณ +3.35% จากเงินลงทุนที่ใส่เข้าไปครั้งแรก 2 แสน เมื่อ 31 ส.ค. 59 และใส่เพิ่มเดือนละ 5,000 บาทมาได้ 12 เดือน

ดูกำไรอาจจะไม่ได้เยอะมากมาย เนื่องจากพอร์ตที่จัดนี้ก็ไม่ใช่พอร์ตเสี่ยงสูงอะไรมากนัก อีกทั้งใน 12 เดือนที่ผ่านมาสินทรัพย์หลักๆ เช่นหุ้นไทยก็ซึมมานานเพิ่งจะมาดีเอาเดือนที่แล้ว ส่วนอสังหาฯ และทองคำ ซึ่งพอร์ตนี้มีนโยบายกระจายการลงทุนไปในน้ำหนักที่พอสมควร ก็ให้ผลตอบแทนติดลบในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนั้นพอร์ตยังได้รับอิทธิพลจาก Front-end Fee ที่เกิดตอนที่ซื้อครั้งแรกอยู่พอสมควร (โดยเฉพาะตอนที่เริ่มลงทุนเงิน 2 แสนบาทก้อนแรก) ได้มาเท่านี้ ไม่ขาดทุนก็ถือว่าพอไปวัดไปวาได้ อย่างน้อยก็ชนะกองทุนรวมตราสารหนี้พอให้ไม่อาย

แต่สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นนอกจากเรื่องกำไร/ขาดทุน ซึ่งเราจะวิจารณ์กันอยู่แล้วเหมือนทุกเดือน คือเรื่องของ “ขนาดของพอร์ต” ที่โตขึ้นมาจาก 2 แสน มาเป็นร่วม 2.7 แสนแล้ว แน่นอนว่ามาจากเงินต้นที่ใส่เข้าไปเป็นประจำเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้มากกว่าเรื่องผลตอบแทน

ดังนั้น ฝั่งผลตอบแทนเราก็พยายามบริหารไป แต่ก็อย่าละเลยเงินลงทุนเพิ่มนะครับ โดยเฉพาะกรณีที่เราไม่ได้มีพอร์ตใหญ่โตแต่แรก เงินที่ใส่เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ จะสำคัญมาก


ซึ่งนอกจากการวัดกำไรแบบ Absolute เทียบกับต้นทุนแล้ว เรามาดูการวัดแบบ Relative เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับพอร์ตจริง หรือที่เราเรียกว่า Portfolio Benchmark กันบ้าง

03-benchmark

จากตารางและกราฟ จะเห็นว่าในตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา หากดูในช่อง Alpha ก็จะพบว่าพอร์ตจริงแพ้ Benchmark อยู่ 7 เดือน และชนะได้เพียง 5 เดือน ทำให้เมื่อสะสมผลการแพ้ชนะทบต้นมา 12 เดือน สรุปแล้วคือพอร์ตแพ้ไป -1.22%

ซึ่งแปลว่าความพยายามทำนู่นทำนี่ของผมตลอด 12 เดือนที่ผ่านมายังไม่ค่อยเป็นผลเท่าไร เพราะถ้าผมไม่มัวมาปรับ Weight แบบ Tactical Asset Allocation (TAA) แต่คง Weight ไว้ให้เท่ากับ Weight ระยะยาวหรือ Strategic Asset Allocation (SAA) เสีย รวมทั้งเรื่องการเลือกกองก็ไม่ต้องเลือกมาก เน้นลงทุนใน Index Fund ที่เลียนแบบดัชนีของสินทรัพย์ต่างๆ ไป ผลตอบแทนที่ได้ก็อาจมากกว่าพอร์ตจริง

แต่นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของพอร์ตตัวอย่างนี้ครับ เพราะพอร์ตนี้อยากจะลองฝึกการตัดสินใจแบบต่างๆ ดู ผิดก็ปรับแก้กันไป เรียนรู้กันไป

ว่าแล้วลองมาดูกันครับ ว่าเดือนนี้การตัดสินใจไหนที่ถูกและนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดี และการตัดสินใจไหนที่ผิดและนำมาซึ่งผลตอบแทนที่แย่ (จนทำให้แพ้ Benchmark)

 


วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน ส.ค. 60

04-attribution-graph

05-attribution-old

ก่อนอื่นลองมาดู Benchmark Return ของเดือนนี้กันก่อนนะครับ

  • Thai Bond (ดัชนี ThaiBMA Gov. Bond 1-3Y Maturity) +0.23%
  • Thai Property (กอง M-PROPERTY) +2.60%
  • Thai Stock (ดัชนี SET TRI) +3.32%
  • Foreign Stock (ดัชนี S&P500 TRI) -0.34%
  • Alternative (ราคาทองคำ LBMA Gold AM) +1.86%

ถือเป็นเดือนที่ดีของนักลงทุนไทย เพราะสินทรัพย์ฝั่งไทยบวกหมดและบวกแรงด้วย ซึ่งเมื่อคำนวณผลตอบแทนเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average) ในสัดส่วน

15% : 25% : 30% : 20% : 10%

ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับ Strategic Weight หรือ SAA ของพอร์ตนี้ เดือนนี้ก็ Portfolio Benchmark จะมีกำไร +1.92%

หมายความว่า ถ้าเราจัดพอร์ตให้ได้ตามสัดส่วนข้างต้น และลงทุนในกองทุนที่พยายามสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีทั้ง 5 ที่เราเลือกมาเป็นตัวอ้างอิง ก็ควรจะได้ผลตอบแทนออกมาประมาณ +1.92% แล้ว

ทีนี้เรามาดูกันครับ ว่าทำไมพอร์ตจริงถึงแพ้ Benchmark ได้ ซึ่งที่มา (Source) ของ Alpha นั้น ก็จะอยู่ในการตัดสินใจ 2 Layer ต่อไปนี้

Layer 1 : Tactical Allocation
(เอียงน้ำหนักของสินทรัพย์ในพอร์ตให้เพี้ยนไปจากแผนระยะยาว)

ในการประเมินตัวเองใน Layer นี้นั้น เราจะยังไม่ไปดูว่า กองที่เราลงได้เท่าไร แต่เราจะดูเฉพาะ Benchmark Return ว่าทำได้เท่าไร และเราตัดสินใจ Overweight หรือ Underweight สินทรัพย์นั้นในพอร์ตได้ถูกต้องมั๊ย จึงยังไม่เอาเรื่องการเลือกกองทุน (Fund Selection) มาปน

โดย Layer นี้เดือนนี้ถือว่าผมพลาด เพราะส่วนที่ตัดสินใจถูกต้อง “ไม่มีเลย” แต่ส่วนที่ตัดสินใจผิด คือ

  • การ Underweight Property ในเดือนที่ Property Benchmark ให้ผลตอบแทนเป็นบวกค่อนข้างมาก คือ +2.60% ทำให้แทนที่จะได้เยอะ ก็เลยได้น้อยลง (SAA Weight = 25.0% / Actual Weight = 20.6%)
  • การ Underweight Thai Stock ในเดือนที่ Thai Stock Benchmark ให้ผลตอบแทนเป็นบวกแรงมาก คือ +3.32% ทำให้แทนที่จะได้เยอะ ก็เลยได้น้อยลง (SAA Weight = 30.0% / Actual Weight = 26.8%)
  • การ Overweight Foreign Stock ในเดือนที่ Foreign Stock Benchmark ให้ผลตอบแทนเป็นลบคือ -0.34% ทำให้ขาดทุนมากขึ้น (SAA Weight = 20.0% / Actual Weight = 28.2%)

ในการประเมิน Layer นี้เราจะไม่ประเมินสินทรัพย์ที่คงน้ำหนักไว้กลางๆ (Neutral Weight) เพราะถือว่าเราลงทุนตามแผนระยะยาว ไม่ได้เอียงพอร์ตไปด้านใดด้านหนึ่ง ถือว่าไม่ใช่ Active Decision จึงไม่ต้องวัดผลว่าทำถูกหรือผิด

Layer 2 : Securities/Fund Selection
(การเลือกกองทุนมาเป็นตัวแทนของสินทรัพย์)

ที่นี่มาดูที่ตัวกองที่เราเลือก ว่าทำได้ดีกว่า Asset Benchmark ของตัวมันเองมั๊ย ซึ่งได้ผลดังนี้

  • K-FIXED +0.38% vs BM + 0.23% ชนะ!
  • TMBPIPF +0.78% vs BM +2.60% แพ้
  • BTP +2.19% vs BM +3.32% แพ้
  • KFDYNAMIC +4.18% vs BM +3.32% ชนะ!
  • TMBAGLF +0.35% vs BM -0.34% ชนะ!
  • KT-EURO -0.45% vs BM -0.34% แพ้นิดหน่อย
  • KF-GTECH -1.14% vs BM -0.34% แพ้
  • CIMB PRINCIPAL GIF +1.24% vs BM -0.34% ชนะ!
  • TMBGOLDS +2.91% vs BM +3.12% แพ้นิดหน่อย

จะเห็นว่าใน Layer นี้ผลก็ออกมาผสมๆ กันนะครับ คือชนะบ้างแพ้บ้าง แต่เมื่อนำผลตอบแทนของทั้งสองชั้นการตัดสินใจ มารวมกัน ก็จะพบว่าผลตอบแทนของ Portfolio ได้ +1.37% เทียบกับ Portfolio Benchmark ซึ่งได้ +1.92% ซึ่งแปลว่า โดยรวมแล้ว Active Decision ของเดือนนี้ทำแล้วแพ้ไปนะครับ

ปล. แต่ต้องเน้นตรงนี้นะครับ ว่าการวิเคราะห์ในส่วนนี้ เป็นผลของเดือนนี้เท่านั้น ไม่ได้แปลว่าเราจะเอาผลนี้ไปใช้ปรับพอร์ตอะไรได้มากมาย เพราะการลงทุนจริงๆ มันยาวกว่านั้น ไม่มีอะไรดีทุกเดือนอยู่แล้ว และก็ไม่มีอะไรที่แย่ตลอดเช่นกัน แต่ที่เอามาเขียนให้ดูแบบนี้ เพื่อฝึกให้วิเคราะห์พอร์ตตัวเองให้เป็นเฉยๆ ครับ


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

ผมมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันของสินทรัพย์ต่างๆ ก็ยังอยู่ในภาวะที่ไม่ได้มีอะไรน่ากลัวเป็นพิเศษ ฝั่งหุ้นต่างประเทศอาจจะแพงบ้าง แต่ถ้าไม่นับเรื่องความเสี่ยงที่เกินจะคาดเดาอย่างภัยสงครามต่างๆ ความเสี่ยงหลักๆ ก็ไม่คิดว่ามีอะไรที่น่ากลัวจนเราควรต้องปรับพอร์ตตั้งการ์ดรอไว้ตั้งแต่ตอนนี้

ในทางกลับกัน สินทรัพย์ในประเทศก็ดูดีขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งหุ้นไทย และอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ไทย หากวัดด้วยดัชนี SET PF&REIT Index ก็เพิ่งกลับมาเป็นขาขึ้น (สะท้อนจากการสามารถยืนอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย 20 และ 40 สัปดาห์ หรือ 100 และ 200 วันได้แล้ว)

pfreit

ดังนั้นผมคิดว่าพอร์ตสินทรัพย์ไทยที่ Underweight ไว้ ก็จะพยายามปรับมาให้เป็น Neutral Weight มากขึ้น เพียงแต่ยังไม่อยากขาย Foreign Stock ออกมาแบ่ง Weight ให้สินทรัพย์ไทยในทันที เพราะกองหุ้นต่างประเทศทั้งหมดที่ถือ ผมก็ยังเชื่อว่ามันยังไปได้ โดยเฉพาะเมื่อดูจากแนวโน้มราคาแบบ Trend Following ที่ทุกตัวยังอยู่ในขาขึ้นอยู่

ดังนั้นเดือนนี้ พอร์ตเก่าก็ไม่ไปแตะอะไรมัน ส่วนเงินใหม่ 5 พันบาท ก็จะแบ่งไปเติม Weight ให้สินทรัพย์ที่พร่องอยู่ ซึ่งหลักๆ ก็คือหุ้นไทย และก็จะเติมเข้าไปในทองคำนิดหน่อย เพราะราคาก็ปรับตัวดีขึ้นมาค่อนข้างน่าสนใจ (หากคิดแบบ Trend Follower)

สรุปเดือนนี้จึงกระจายเงินใหม่ 5 พันบาทไปซื้อกองทุนต่างๆ ดังนี้

  • BTP 2 พันบาท
  • KFDYNAMIC 2 พันบาท
  • TMBGOLDS 1 พันบาท

หุ้นไทยก็ยังกระจายสองกอง ตามพอร์ตเดิม ทองคำก็ยังใช้กองเดิม และได้ทำ Transaction ไปดังรูปนี้ครับ

06-transaction

สังเกตว่าทองคำรายการจะเกิดวันที่ 5 ก.ย. เนื่องจากวันที่ 4 ก.ย. เป็นวันหยุดของกอง TMBGOLDS ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *