สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (เม.ย. 61)

model-portfolio-04-2018-jpg

Model Portfolio เดือน เม.ย. 61 

กลับมาพบกับสรุป Model Portfolio ประจำเดือน เม.ย. 61 ซึ่งจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เป็นพอร์ตสำหรับการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
    ของผู้เข้าสัมมนา DIY Portfolio กับ A-Academy
    (ดังนั้นถ้าบางท่านอ่านไม่รู้เรื่อง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเนื้อหาเหล่านี้
    ผมสอนไว้ในหลักสูตร DIY ซึ่งไม่ได้มีวิดีโอให้ดูใน YouTube นะครับ)
  2. เป็นพอร์ตการลงทุนจริงของลูกสาวผม
    สำหรับเป็นทุนการศึกษาในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า
    ตามแผนที่เขียนไว้ใน หน้านี้

ก่อนอื่น ทุกท่านสามารถดาวโหลดไฟล์สรุปพอร์ตในรูปแบบ Excel ของเดือนนี้ ไปศึกษาอย่างละเอียดโดย คลิ๊กที่ลิ้งค์นี้ ครับ


สถานะพอร์ต ณ 30 เม.ย. 61

01-outstanding 02-performance

  • เดือนนี้พอร์ตมีมูลค่า 322,209.42 บาท
    (รวมเงินลงทุนใหม่ประจำเดือน 5,000 บาทแล้ว)
  • เดือน เม.ย. 61 กำไร เท่ากับ 1,491.54 บาท หรือ +0.47%
    ฟื้นตัวจากการขาดทุนต่อเนื่องใน 2 เดือนก่อนหน้า
  • แต่ผลตอบแทนสะสมปี 2561 (4 เดือน) ยังคงขาดทุนอยู่  -0.86%

03-2-benchmark

  • วัดผลเทียบ Benchmark เดือน เม.ย. 61
    พอร์ต +0.47% vs BM +0.80% แพ้ไปเกือบครึ่ง
  • วัดผลเทียบ Benchmark  ตั้งแต่เริ่มลงทุน (ส.ค. 59)
    พอร์ต +8.61% vs BM +14.79% แพ้เท่ากับ -6.19%
    ซึ่งเป็นการแพ้สะสมมากขึ้นทุกเดือน

แพ้สะสมเยอะขนาดนี้คงไม่ใช่แค่ผลจากค่าธรรมเนียมแล้ว แต่เป็นผลจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดด้วย

ซึ่งหลักๆ ที่ทำให้แพ้มากมายก็คือการที่ BM ในส่วนของ Foreign Stock นั้น ผมเซ็ทไว้ง่ายๆ เป็นดัชนี S&P500 TRI คือมอง S&P500 เสมือนเป็นทางเลือกที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุด ถ้าจะไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ

แต่ในการลงทุนจริงนั้น ผมใช้วิธีเลือก Region และ Sector เอาเอง โดยคิดว่าจะเลือกได้ดีกว่าการลงทุนง่ายๆ ตาม S&P500 แต่ผลปรากฎว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตั้งแต่ที่เริ่มลงทุนในเดือน ส.ค. 59 มานั้น ดัชนี S&P500 ถือเป็นดัชนีหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนดีอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว ขณะที่หุ้นต่างประเทศใน Region อื่นๆ นั้น ทำได้ไม่ดีเท่า

หากล้างผลการแพ้ชนะในปีเก่าๆ ทิ้งไป เหลือไว้แค่ปี 2018 ก็ยังถือว่าแพ้เยอะอยู่ ดังรูปด้านล่าง

03-2-benchmark

นั่นคือตั้งแต่ต้นปีมานี้ BM กำไร +2.31% แต่พอร์ตขาดทุนไป -0.86% แพ้อยู่ -3.16% ทีเดียว


วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน เม.ย. 61

04-attribution-graph

จากกราฟ Performance Attribution ด้านบน เราสามารถวิเคราะห์ดูสาเหตุได้ครับ ว่าสาเหตุของการแพ้ BM เดือนนี้เกิดจากอะไร

  1. ระดับ Tactical Asset Allocation (TAA)
    • ระดับนี้เราจะยังไม่ดูกอง แต่ดูที่ระดับ Asset ก่อน จะเห็นว่าเดือนนี้ Asset Benchmark ที่เป็น Risky Asset กลับมามีผลตอบแทนเป็นบวก ตั้งแต่ Property +1.58%, Thai Stock +0.79%, Foreign Stock +1.21%
    • ซึ่งในการลงทุนจริงนั้น ผมดัน Underweight ทั้ง 3 Asset ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกไป จึงต้องถือว่าตัดสินใจในระดับ TAA ผิดพลาด
      เพราะถ้าแค่ไม่ต้องคิดอะไร ลงทุนแบบ Neutral Weight ตาม SAA ที่ตั้งไว้ ก็จะกำไรมากกว่านี้แล้ว
  2. ระดับ Fund Selection
    • ในระดับนี้เราจะเจาะเข้ามาดูกองที่เลือกไว้กันว่า เมื่อเทียบกับ Asset BM แล้ว กองทำได้ดีร้ายอย่างไร
    • ในส่วนของกองที่ชนะ Asset BM ก็จะเป็นกองหุ้นไทยทั้งสองกองคือ  BTP และ KFDYNAMIC ซึ่งก็ชนะมานิดหน่อย คือ +1.04% และ +1.37% เทียบกับ Thai Stock BM ที่ +0.79%
    • อีกกองที่ชนะมากแบบพิสดารเลยก็คือ CIMB-PRINCIPAL GIF หลังจากที่ลบไปอยู่ระยะหนึ่ง เดือนนี้กลับมาด้วยการ +7.83%
      เทียบกับ Foreign Stock BM ที่บวกแค่ +1.21%
    • ส่วนกองที่ไม่ได้พูดถึงส่วนใหญ่เดือนนี้ก็แพ้ Asset BM ของตัวมันเอง ได้แก่ TMBPIPF, TMBAGLF, KT-EURO, KF-GTECH

โดยรวมเดือนนี้ในระดับ Fund Selection ผลลัพธ์สุทธิก็น่าจะเจ๊ากัน ระหว่างกองที่เลือกถูก หักล้างกับกองที่เลือกผิด ดังนั้นปัจจัยที่ทำให้พอร์ตโดยรวมแพ้ Portfolio Benchmark ก็จะเกิดจาก TAA เป็นหลัก


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

หากพิจารณาประวัติการปรับพอร์ตของผมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าผมค่อยๆ ปรับน้ำหนักของ Thai Bond ขึ้น และลดน้ำหนักของทั้ง Thai และ Foreign Stock ลง โดยเฉพาะในเดือนที่แล้ว ที่ลดหุ้นเพิ่ม Bond ค่อนข้างเยอะ

05-aa-history

นั่นก็เพราะในเดือนที่แล้ว ดัชนีราคาหุ้นของหลายๆ ตลาด หลุดหรือมีแนวโน้มจะหลุดขาขึ้นระยะยาว เมื่อพิจารณาจากเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ที่ผมชอบใช้ คือ MA 20 Week (100 วัน) และ MA 40 Week (200 วัน)

08-taa-trend

ซึ่งจากตารางด้านบน ปัจจุบันแนวโน้มดังกล่าวก็ยังคงอยู่ แต่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กล่าวคือในหุ้นของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (DM) นั้น ดูเหมือนจะมีทิศทางดีขึ้น คือราคาสามารถยืนเหนือ MA 40 Week ได้ แต่หุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) นั้น กลับยังไม่ได้มีทิศทางดีขึ้นเท่าไรนัก โดยล่าสุดหุ้นไทย ก็หลุดเส้นค่าเฉลี่ย MA 20 Week ซึ่งผมใช้ดูแนวโน้มระยะกลางไปอีกหนึ่งตลาด

สถานการณ์แบบนี้ มันก็เหมือนจุดวัดใจเหมือนกัน เพราะถ้าเข้าไปรับหุ้นเพิ่ม ก็น่าจะถือว่าได้รับในจุดที่ดี คือจุดที่มันย่อลงมาพอดี และยังยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวได้ ลองดูจากกราฟ S&P500 ด้านล่างนะครับ

09-sp500

ถือว่าเป็นจุด Buy-on-Dip ที่น่าสนใจทีเดียว แต่มันก็ยังผิดได้ เพราะถ้าไปๆ มาๆ ดันหลุดแนวโน้มระยะยาว จุดที่ซื้อนี้ก็ถือว่าไม่ใช่จุดที่ถูกจริงๆ อาจจะมีถูกกว่าได้อีก หรืออาจจะถูกกว่ามากๆ เลยก็ได้

พอมาดู Weight ของสินทรัพย์ต่างๆ ในพอร์ต ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีสัดส่วนดังนี้

  • ตราสารหนี้ไทย 34.7% vs SAA = 15% (Over)
  • อสังหา 17.4% vs SAA = 25% (Under)
  • หุ้นไทย 22.1% vs SAA = 30% (Under)
  • หุ้นต่างประเทศ 16.2% vs SAA = 20% (Under)
  • ทองคำ 9.6% vs SAA = 10% (Neutral)

จะเห็นว่าผมก็ค่อนข้าง Underweight หุ้นไว้เยอะ เงินก็พักอยู่ในตราสารหนี้ไทยเสียมาก การซื้อสะสมที่ตรงนี้สักครั้ง ก็คงไม่น่าจะเสียหายอะไรมาก คิดเสียว่าไม่ได้จะซื้อทีเดียว

ผมจึงตัดสินใจปรับพอร์ตดังนี้

07-target-aa

ลองเปรียบเทียบคอลัมน์ Current Asset Allocation กับ Target ใหม่ดูนะครับ จะเห็นว่าผมตัดสินใจเพิ่มหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว (DM) เนื่องจากที่ได้กล่าวไปเมื่อสักครู่ว่าแนวโน้มดูจะดีขึ้น โดยเพิ่มผ่านกอง CIMB-PRINCIPAL GOPP-A ซึ่ง มีนโยบายลงทุนในหุ้นทั่วโลก โดยน้ำหนักส่วนใหญ่ก็อยู่ในหุ้น DM ตามที่อยากลง

แม้กองนี้จะเพิ่งออกมา แต่ถ้าเราไปหา Master Fund Factsheet มาเทียบดูกับกอง Global EQ อื่นๆ กองนี้ก็ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าเลยทีเดียว

โดยในการซื้อก็จะใช้เงินจาก

  • เงินใหม่ประจำเดือน 5,000 บาท ทำรายการซื้อ
  • เงินเก่า ในกอง K-FIXED 10,000 บาท
    โดยทำรายการสับเปลี่ยน เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน
    ระบบซื้อขายกองทุนของ Nomura สามารถสั่งสับเปลี่ยนกองทุน
    ข้าม บลจ. ได้แล้ว (โดยจะเป็นการขายกองต้นทาง และซื้อกองปลายทางให้เองโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องมาแยกสั่งสองครั้งอีกแล้ว)

การซื้อหุ้น DM ผ่าน CIMB-PRINCIPAL GOPP-A เพิ่ม 15,000 บาท ก็จะทำให้สัดส่วนของ Foreign Stock จากเดิม 16.2% เพิ่มมาเป็น 20.8% เปลี่ยนสถานะจากการ Underweight มาเป็น Neutral Weight ในที่สุด

โดยผมทำรายการดังนี้ครับ

06-transaction

รายการบรรทัดแรกเป็นรายการซื้อปกติ ส่วนบรรทัดที่ 2 และ 3 นั้น เป็นรายการสับเปลี่ยน ซึ่งผมสั่งสับเปลี่ยนตามรายละเอียดด้านล่างนี้ครับ

06-2-switch

ซึ่งต้องยอมรับด้วยนะครับ ว่าการสับเปลี่ยนจะไม่ได้เกิดทันที โดยจะต้องรอรับเงินค่าขายคืนจากกองต้นทางก่อน เมื่อได้เมื่อไรระบบจึงจะสั่งซื้อกองปลายทางให้อีกที ดังนั้นมันจะมีช่วงสูญญากาศอยู่ครับ แต่ข้อดีคือไม่ต้องกลัวขายแล้วลืมมาสั่งซื้อกลับ

เดืิอนต่อไปมาลุ้นกันครับ ว่าภาวะตลาดโดยรวมมันจะดีขึ้นมั๊ย เพราะถ้าดีขึ้น ผมก็คิดว่าควรจะค่อยๆ สะสมหุ้นเพิ่มขึ้นอีก แต่ถ้าไม่ดีขึ้น ผมก็ยังเหลือ Cash ในรูปของ Thai Bond อยู่ค่อนข้างมาก ให้ได้รอจังหวะสะสมในจุดที่น่าสนใจ เช่นครั้งนี้ได้อีกเป็นระยะครับ

 


ทิ้งท้ายก่อนจาก

มาดูวิดีโอพัฒนาการของเจ้าของพอร์ตกันพอให้ยิ้มได้ในสถานการณ์ช่วงนี้หน่อยนะครับ ตอนนี้เอเจจะย่างเข้า 1 ปี 7 เดือนแล้วคร้าบ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *