สถานะพอร์ตและการตัดสินใจลงทุน (พ.ค. 60)

model-portfolio-05-2017

Model Portfolio เดือน พ.ค. 60

เดือน พ.ค. ที่ผ่านมานี้ ถือเป็นเดือนที่ดีสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ครับ หากวัดด้วยผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ผ่านดัชนีที่เป็น Benchmark ของสินทรัพย์นั้นๆ ก็จะบวกอ่อนๆ กันทั้งนั้น

แต่อนิจจาพอร์ตลูกสาวผมที่กำลังจะอัพเดทให้ได้อ่านกันนั้นกลับขาดทุนได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนเป็นเหตุให้ผมมีอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด จึงตัดสินใจปรับพอร์ตเดือนนี้มากที่สุดตั้งแต่ที่รันพอร์ตนี้มาเมื่อ ส.ค. 59 (อันที่จริงเป็นผลจากการอดหลับอดนอนเพราะลูกตื่นกลางดึกบ่อยๆ)

แต่ก่อนจะเข้าไปดูพอร์ต มาอัพเดทรูปเจ้าของพอร์ตกันก่อน ตอนนี้เอเจย่างเข้า 8 เดือน น้ำหนัก 9.7 กก. แล้วครับ

img20170531175433

ยังยืนไม่ได้นะ ในรูปคือประคองก้นไว้

img20170526094900

เธอเป็นกุลสตรีมากทีเดียว สังเกตจากท่านอน

ปล. ท่านที่เพิ่งเข้ามาอ่านเดือนนี้เป็นเดือนแรก ถ้างงๆ ว่าอยู่ดีๆ ก็พูดถึงพอร์ตลูกสาว เรื่องมันเป็นยังไงมายังไง ขอให้กลับไปตั้งหลักที่ โพสนี้ ก่อนนะครับ


สถานะพอร์ต ณ 31 พ.ค. 60

ตั้งแต่เดือนนี้ไป ผมตั้งใจจะเขียนให้สั้นลง เพราะได้พยายามบรรยายอย่างละเอียดที่สุดมาหลายเดือนแล้ว ท่านที่ติดตามประจำ จะได้อ่านได้สบายกระชับขึ้น ส่วนท่านที่อ่านแล้วตามไม่ทัน ก็สามารถย้อนกลับไปอ่านแนวทางในเดือนก่อนๆ ได้

(ต่อไปนี้คือช่วงขายคอร์ส!)

หรือจะดีกว่านั้น  อยากให้ได้มาเรียนหลักสูตร DIY Portfolio ด้วยกันสดๆ ดีกว่าครับ เพราะจริงๆ แล้วหน้าเว็บนี้ เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เรียนหลักสูตรดังกล่าวมาแล้ว ได้ทบทวนและฝึกฝนการตัดสินใจจากพอร์ตจริงของลูกสาวผมไปด้วยกันยาวๆ

รุ่นต่อไป (รุ่นที่ 3) ถ้าไม่ผิดพลาดอะไรก็จะเป็นวันที่ 19-20 สิงหาคมนี้ ซึ่งเมื่อกำหนดการอย่างเป็นทางการออกเมื่อไร ผมจะประชาสัมพันธ์ทางเพจ A-Academy ต่อไป โดยจะเปิดรับสมัครล่วงหน้าระมาณ 1-2 เดือนก่อนวันสัมมนาครับ

เอาล่ะ… เข้าเรื่องดีกว่าครับ ลำดับแรกดาวโหลดไฟล์ Excel ไปดูประกอบแบบชัดๆ ก่อน เช่นเคย ดาวโหลดได้โดย คลิ๊กที่นี่ ครับ

01-outstanding

02-performance

03-benchmark

เมื่อรวมเงินใหม่ที่เพิ่งใส่เข้าไปช่วงสิ้นเดือน มูลค่าพอร์ต ณ วันที่ 31 พ.ค. 60 จะเท่ากับ 244,552.77 บาท โตขึ้นมากครับเทียบกับพอร์ตเริ่มต้นที่ 200,000 บาท แต่อย่าคิดว่าโตขึ้นเพราะมีกำไรนะครับ มันเป็นการโตขึ้นเพราะเงินใหม่ที่ใส่เข้าไปเดือนละ 5,000 บาทล้วนๆ ต่างหาก

เพราะใส่ไป 9 เดือน = 9 ก้อนรวม 45,000 บาทแล้ว ดังนั้น จริงๆ พอร์ตยังขาดทุนด้วยซ้ำ เพราะต้นทุนรวม = 200,000 + 45,000 = 245,000 ตอนนี้ยังขาดทุนอยู่ 447 บาท (ดูพัฒนาการรายเดือนได้ในตารางที่ 2 ด้านบน)

ส่วนเดือนล่าสุด พ.ค. 60 นั้น ขาดทุนไปอีก -0.34% ทั้งๆ ที่ Benchmark ภาพรวมของพอร์ตมีกำไร +0.31% ด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าเดือนล่าสุดนี้แพ้ Benchmark ไปแบบกลับทิศกลับทาง มี Negative Alpha ถึง -0.65% เลยทีเดียว ลองไปดูกันครับว่าทำไม ?


 

วิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนเดือน พ.ค. 60

04-attribution-graph

05-attribution-old

ก่อนอื่นอยากให้ดู Benchmark Return ของเดือนนี้กันก่อน ดังนี้

  • Thai Bond (ดัชนี ThaiBMA Gov. Bond 1-3Y Maturity) +0.25%
  • Thai Property (กอง M-PROPERTY) +0.01%
  • Thai Stock (ดัชนี SET TRI)+0.12%
  • Foreign Stock (ดัชนี S&P500 TRI) +1.25%
  • Alternative (ราคาทองคำ LBMA Gold AM) -0.14%

จะเห็นว่าบวกกันโดยส่วนใหญ่ จะมีลบก็คือทองคำ ซึ่งก็ลบไปนิดหน่อย ซึ่งถ้าเอา Asset Benchmark 5 ดัชนีข้างต้น มาหาผลตอบแทนเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average) ในสัดส่วน

15% : 25% : 30% : 20% : 10%

ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับ Strategic Weight หรือ SAA ของพอร์ตนี้ เดือนนี้ก็จะกำไร บวกไป +0.31% ซึ่งก็ถือว่าไม่เลว สำหรับการที่ไม่ต้อง Take Active Decision อะไร เพียงแค่จัดพอร์ตตาม Weight ระยะยาว แล้วก็เลือกกองที่เลียนแบบดัชนีของสินทรัพย์นั้นๆ

ปัญหาที่ทำให้ผลตอบแทนจริงของพอร์ตมันออกมาติดลบนั้น กลับเป็นเพราะผมไป Take Active Decision ให้กับพอร์ต ซึ่งก็มี Active Decision อยู่ 2 Layer

Layer 1 : Tactical Allocation
(เอียงน้ำหนักของสินทรัพย์ในพอร์ตให้เพี้ยนไปจากแผนระยะยาว)

Layer นี้ผมถือว่าตัวเองทำได้ดี เช่น

  • Underweight Property ซึ่งเดือนที่ผ่านๆ มา ให้ผลตอบแทนน้อย
  • Underweight Thai Stock ซึ่งก็ซึมๆ มาหลายเดือนแล้ว
  • Overweight Foreign Stock ซึ่งก็มีผลตอบแทนดีกว่าหุ้นไทย และในเดือนล่าสุดก็ยัง +1.25% อยู่ ขณะที่หุ้นไทยบวกแค่ +0.12%

แปลว่าการตัดสินใจภาพใหญ่พอไปวัดไปวาได้ แต่มันไปผิดที่ Layer 2

Layer 2 : Securities/Fund Selection
(การเลือกกองทุนมาเป็นตัวแทนของสินทรัพย์)

ทางเลือกในการเลือกกองหลักๆ ก็มี 2 แนวคือ

  1. Passive/Index Fund ลงทุนเลียนแบบตลาดไปเลย
  2. Active Fund ลงทุนต่างจากดัชนีตลาด
    ซึ่งอาจรวมถึงการเน้นหนักบาง Sector
    ไปจนถึงการปรับเปลี่ยน Region ของสินทรัพย์

จะเห็นว่าพอร์ตปัจจุบันผมพลาดไปมาก และจริงๆ ก็มีเดือนก่อนหน้าที่พลาดลักษณะนี้มาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดครั้งแรก ที่ชัดๆ ก็เช่น

  • ผมเลือกกอง T-PropInfraFlex มาเป็นตัวแทน Thai Property แต่กองนี้เดือนที่แล้วก็แพ้ให้กับกอง M-Property ซึ่งผมเลือกมาเป็น Benchmark ไปร่วม 1%
  • ผมเลือก UTSME มาเป็นตัวแทนหุ้นไทย ซึ่งหลายเดือนที่ผ่านมา ก็แพ้ SET TRI มาตลอด เดือนนี้ SET TRI +0.12% กองก็ยังลบ -0.67% อยู่
    จะว่าเพราะหุ้นกลาง-เล็กตกก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง แต่ในช่วงเดียวกันก็มีกองทุน Mid-Small Cap หลายกองที่ผลตอบแทนดีกว่านี้ แบบที่วัดตั้งแต่ต้นปีผลตอบแทนต่างกัน 5-10% เลย
  • ผมเลือกกอง ABAGS และ SCBUSSM ซึ่งลงทุนในหุ้น US Small Cap มาเป็นตัวแทน Foreign Stock ซึ่งก็ใช้ดัชนี S&P500 TRI เป็น Benchmark จะเห็นว่าเลือก Region เดียวกันคือ “US” แต่เลือก Style ต่างกัน คือผมเลือก “Small Cap” ขณะที่ Benchmark เป็น “Large Cap”

เดือนนี้ที่โดนไปอย่างหนักหน่วงก็จาก ABAGS และ SCBUSSM นี่แหละครับ เพราะใน Layer 1 ผม Overweight Foreign Stock เพราะคิดว่ามันน่าสนใจกว่า Thai Stock ซึ่งดัชนีมันก็ขึ้นดีกว่าหุ้นไทยจริงๆ แต่กองที่ผมเลือกดันติดลบไป -4% เศษๆ กลายเป็นการ Overweight กองที่แย่ ก็เลยรับผลเสียหายไปเยอะหน่อย

และนั่นเป็นเหตุให้เดือนนี้ ผมขอปรับพอร์ตขนานใหญ่ เพื่อพยายามทำให้พอร์ตมันดีขึ้นในเดือนข้างหน้า ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาการันตีหรอกครับว่าปรับแล้วจะถูก แถมยังมีโอกาสซวย ปรับไปแล้วแย่กว่าเดิมด้วย และที่จะโดนชัวร์ๆ แน่นอน คือค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขาย

แต่ถามว่าทำไมยังทำอยู่… ตอบตรงๆ เพราะมันสนุกครับ

การลงทุนมันสนุกตรงนี้ มันสนุกที่เราพยายามใช้ความรู้ ความสามารถ ไปจนกระทั่งใช้ดวง ในการพยายามสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ต เหมือนปั่นจักรยานใหม่ๆ แรกๆ เราอาจจะกลัว แต่พอสักพักเราก็อยากจะปล่อยมือบ้าง ออกถนนใหญ่บ้าง กระทั่งขี่วิบาก ผาดโผนไปบ้าง

นู่นล่ะครับ ลองแล้วลองเล่า วัดผลแล้ววัดผลอีก จนยอมรับว่าเรา “ห่วยจริงๆ” ค่อยคิดยอมแพ้ กลับไปลงทุนตาม Strategic Weight โดยใช้ Index Fund ก็ได้ อันที่จริงก็มีงานวิจัยรองรับหลายงาน ว่าบางทีการทำแบบนั้น ระยะยาวจะดีกว่าการมา Take Active Decision แบบที่ผมกำลังทำกับ Model Port นี้อยู่ก็เป็นได้


สรุปการปรับพอร์ตเดือนนี้

06-rebalancing-plan

ตารางนี้อยู่ด้านขวาของ Sheet แรกในไฟล์ Excel มาตั้งแต่เดือนแรกๆ แต่ผมยังไม่เคยใช้ให้ดู เดือนนี้ขอใช้ให้ดูเพราะมีการปรับพอร์ตค่อนข้างเยอะนะครับ

หัวตารางจะเขียนว่า Rebalancing Plan ซึ่งผมตั้งให้มันแสดงเฉพาะ % Change และ Baht Change หรือจะเรียกว่าเป็นส่วนต่างที่เราจะปรับก็ได้ ถ้าเป็นบวกก็คือซื้อเพิ่ม ถ้าเป็นลบก็คือขายออก

สิ่งที่ผมทำเดือนนี้คือ

  1. นำเงินใหม่ 5,000 บาท ซื้อ KFDYNAMIC
  2. เปลี่ยนกอง Property จาก T-PropInfraFlex เป็น TMBPIPF
  3. เปลี่ยนกอง Thai Stock จาก  UTSME เป็น KFDYNAMIC
  4. ขาย SCBUSSM ซึ่งเป็น US Small-Cap EQ เปลี่ยนเป็น KT-EURO ซึ่งเป็น Europe Small-Cap EQ

เหตุผล

ผมเลือก KFDYNAMIC เพราะเป็นกองหุ้นไทยที่ในระยะสั้นที่ผ่านมา สร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่พิสดารอย่างยิ่งในสายตาผม ราวกับไปกินยาบ้ามา ลองดูตารางด้านล่างนี้นะครับ

kfdynamic

ข้อมูลผมใช้จาก WealthMagik เป็นผลตอบแทน ณ วันที่ 31 พ.ค. 60 จะเห็นว่าผลตอบแทนช่วง 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี ที่ผ่านมาของ KFDYNAMIC เมื่อเทียบกับกองทุนอ้างอิงต่างๆ ซึ่งก็มีชื่อเสียง เป็นตัวพ่อตัวแม่ใน Segment ของมัน ก็จะเห็นว่า KFDYNAMIC ระยะสั้นนั้นเด่นกว่า ราวกับไปกินยาบ้ามาก็ไม่ปาน ยิ่งใครลงทุนหุ้นเองปีนี้ จะรู้เลยว่ามันไม่ง่ายที่จะได้ผลตอบแทนระดับนั้น  ผมจึงให้คะแนนความพิสดารในการบริหารพอร์ตระยะประมาณ 1 ปีที่ผ่านมาของกองนี้ในระดับ “ดีเลิศ” แม้ระยะยาวจะได้น้อยกว่ากองอื่นๆ แต่ผมขออาศัยฝีมือในช่วงสั้นนี้ มาแก้ตัวให้ที่ UTSME ทำร้ายพอร์ตไปก่อน

ผมเลือก TMBPIPF เพราะคิดว่าอยากเปลี่ยนจาก Property Fund ที่ลงอสังหาไทยเป็นหลัก มาเป็นกองที่ลงใน Singapore ผสมกับไทยบ้าง ส่วนหนึ่งก็เพราะนโยบายที่ยืดหยุ่นกว่า ในการเลือก Property Fund / REITs เข้าพอร์ต แต่อีกส่วนก็เพราะตาลุกวาวให้กับผลตอบแทนระยะสั้นที่กองที่มี Singapore REITs ผสม ทำได้เหนือกว่ากองไทยล้วนๆ ตามตารางนี้

tmbpipf

จะเห็นว่าทั้ง TMBPIPF และ iPROP-A ทำได้ดีกว่ากองไทยล้วน เพราะมีนโยบายลงทุนใน S-REITs คล้ายๆ กัน แต่ผมขอเลือก TMBPIPF นะครับ ไม่รู้มีการเปลี่ยน Fund Manager รึเปล่า รู้แต่ตั้งแต่ต้นปีมานี้ ฝีมือดีขึ้นเมื่อเทียบกับ iPROP ของ CIMB-PRINCIPAL

ผมเลือก KT-EURO เพราะติดตามมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่มีการแข่งกันออกกองหุ้นยุโรป จนถึงปัจจุบันกองนี้ก็ยังโดดเด่น แถมกองแม่ก็ยังเป็นหุ้น Small Cap ซึ่งผมค่อนข้างชอบ และเชื่อว่าถ้าเลือกได้ดี ระยะยาวน่าจะได้มากกว่ากองที่อิง Large Cap ลองดูผลตอบแทนช่วงที่ผ่านมาเทียบกับกองหุ้นยุโรปหลักๆ ในบ้านเรานะครับ ผมว่าใช้ได้นะ

kteuro

ระวัง! การไล่ล่ากองที่ผลตอบแทนดี อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิด

จะเห็นว่าแนวทางการเลือกกองใหม่ 3 กองข้างต้นของผม ค่อนข้างให้น้ำหนักกับผลตอบแทน โดยเฉพาะในช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีโทษนะครับ เช่น ไปซื้อกองที่ถือหุ้นที่แพงแล้ว (เพราะผลตอบแทนมันขึ้นมาแล้ว) ถ้าเป็นแบบนี้ เราก็อาจจะได้ต้นทุนที่สูง ถือไปสักพักอาจแย่ก็ได้

แต่ขณะเดียวกันมันก็มีอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งผมใช้ ณ ขณะนี้ ก็คือเรื่องของ Momentum โดยมีหลักอยู่ว่า กลยุทธ์การลงทุนบางอย่างเมื่อใช้ได้ดีก็จะได้ผลดีไปสักระยะใหญ่ๆ ซึ่งผมเชื่อว่า 3 กองที่เลือกมา กำลัง Enjoy สถานการณ์แบบนี้อยู่ ก็เลยเสี่ยงร่วมหัวจมท้ายไปกับกองเหล่านี้ ด้วยเชื่อว่ามันน่าจะไปได้ ขณะเดียวกัน ก็คอยตั้งการ์ดไว้ในฝั่งเราเอง ว่าถ้ามันไม่เป็นอย่างที่คิด เราก็ค่อยปรับเปลี่ยนอีกที

กอรปกับในเชิง Timing ของ Asset 3 กลุ่มนี้ ผมว่าหุ้นไทยยังไปได้ ซึมมานานแล้ว Valuation ก็ไม่ได้แพงพิสดาร ส่วนอสังหานี่ยิ่งลงมาหนักเลย ตอนนี้กอง Property Fund หลายกอง (เพราะราคาตกลงมา) ก็เริ่มหา Yield แถวๆ 6-7% เจอแล้ว ซึ่งก็น่าจะเอื้อให้มีแรงเข้ามาซื้อสะสมได้ ส่วนหุ้นยุโรป ถ้าเทียบกับหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (DM EQ) ทั้งหลาย มันก็ยังถูกอยู่ แปลว่า ต่อให้ 3 กองที่เลือกมันไม่ได้ดีอย่างที่คิด แต่ถ้า Asset มันไป เต็มที่เราก็คงแค่กำไรน้อย คงไม่ถึงกับขาดทุนน่า (เข้าข้างตัวเองฝุดๆ)


เกร็ดการทำธุรกรรมซื้่อ/ขาย/สับเปลี่ยน

จะเห็นว่าในการปรับพอร์ตครั้งนี้ จำเป็นต้องมีการสับเปลี่ยนกองทุนข้าม บลจ ซึ่งถ้าใครใช้วิธีเปิดตรงกับ บลจ แต่ละแห่งก็จะเสียเวลาอย่างมาก แต่ถ้าใช้บริการ Fund Supermart เช่นพอร์ตผมใช้ของ Nomura  หรือจะใช้ของอีกเจ้าที่แข่งๆ กันอยู่ก็คือ Phillip ก็จะสะดวกขึ้น

ปัญหาของ Nomura ก็คือ แม้จะซื้อขายกองหลาย บลจ ได้จากระบบเดียว แต่ก็ยังไม่สามารถสั่งสับเปลี่ยนข้าม บลจ ได้ ต้องใช้วิธีขายออกมาเป็นเงินสดก่อน แล้วจึงสั่งซื้อกลับเข้าไปใหม่

กรณีที่เรารู้ยอดเงินเป๊ะๆ เราสามารถทำรายการล่วงหน้ารอไว้ได้เลย เช่น ขายกอง A เงินจะเข้าอีก  3 วัน 10,000 บาท ก็สามารถสั่งซื้อกองใหม่ สมมติว่าเป็นกอง B ล่วงหน้า 10,000 บาทได้ทันที (เป็น Standing Order) ก็คือทำ 2 คำสั่งในครั้งเดียวไปเลย ขายแล้วจะได้ไม่ลืมมาซื้อกลับ

แต่รายการที่ผมกำลังจะทำนี้ มันแย่ตรงที่ไม่รู้จำนวนเงินว่าจะขายได้เท่าไร เพราะผมจะขายหน่วยทั้งหมดที่มีของ UTSME, T-PropInfraFlex และ SCBUSSM ซึ่งการขายทั้งหมดต้องสั่งขายเป็น “หน่วย” เท่านั้น ขายเป็นบาทไม่ได้ กว่าจะรู้ว่าหน่วยทั้งหมดได้เงินมากี่บาท ก็ต้องรอสิ้นวันของ Trade Date ของแต่ละกองทุนเสียก่อน ดังนั้น จึงไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อล่วงหน้าเอาไว้รอได้

ผมจึงต้องทำรายการหน้าตาดังนี้ไว้

07-transaction

จะเห็นว่าต้องรอกว่าเงินค่าขายจะเข้าบัญชีก็วันที่ 8, 9, 12 มิ.ย. (เร็วช้าแล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละกอง ในที่นี้ SCBUSSM รับเงินช้าสุด) แปลว่าผมก็ต้องรอให้รายการขายเกิดก่อน จนรู้ยอดเงินแน่ๆ ค่อยมาสั่งซื้อ ซึ่งก็มีสิทธิ์ลืมได้ (ผมใช้วิธีตั้งในปฏิทินให้เตือนเอาไว้)

เท่าที่ผมได้ยินมา เหมือนระบบของ บล. Phillip จะทำคำสั่งสับเปลี่ยนข้าม บลจ. แบบที่ผมต้อง Manual เองใน Nomura ได้ แต่ผมยังไม่ได้พิสูจน์ว่าได้จริงมั๊ย ถ้าได้จริงก็ถือว่าสะดวกขึ้นอีก

แต่ไม่ว่าจะเป็นการทำ Manual เองหรือทำอัตโนมัติผ่านระบบ การปรับพอร์ตแบบนี้ก็มีข้อเสียใหญ่มากๆ ที่คนไม่ค่อยพูดถึงกันนั่นคือ มันจะมีช่วง “สูญญากาศ” ที่เงินเราจะไม่สร้างผลตอบแทนอยู่

ยกตัวอย่างผมขาย SCBUSSM สั่งวันที่ 2 มิ.ย. ต้องรอรับเงินวันที่ 12 มิ.ย. กว่าจะสั่งซื้อกอง KT-EURO ได้ก็วันนั้น เกิดในระหว่าง 2-12 มิ.ย. นี้ หุ้นยุโรปพุ่งเป็นจรวดขึ้นไป ผมก็พลาดผลตอบแทนช่วงนั้นไปได้ กลายเป็นอาจต้องไปซื้อแพงหลังหุ้นเพิ่งขึ้นแรงไปเสียนี่

ปัญหาแบบนี้แหละครับ ที่เรายังคงต้องยอมรับสภาพอยู่ ถ้าจะใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือ